แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 และให้ยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 แต่การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 56 ลูกหนี้ที่ 2 จึงยังคงต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ตามข้อความในคำขอประนอมหนี้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่ (จำเลย) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ล้มละลาย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 900,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ย.363/2547 ระหว่าง นางวาสนา โจทก์ นางสาวช่อผกา ที่ 1 นางสาวสุพัตรา ที่ 2 จำเลย มูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 627,090.20 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ภายในวงเงินไม่เกิน 621,268.48 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 มาตรา (7) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 และให้ยกเลิกการล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า แม้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 และให้ยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 แต่การประนอมหนี้ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 56 ลูกหนี้ที่ 2 ยังคงต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ตามข้อความในคำขอประนอมหนี้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 ต่อไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้แล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสอบสวนพยานฝ่ายลูกหนี้ แม้ระหว่างสอบสวนลูกหนี้ที่ 2 เคยมีคำร้องฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2553 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้ตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ พร้อมแนบหนังสือที่มีถึงอธิบดีกรมบังคับคดีขอให้ตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ลงนามโดยบุคคลชื่อนางกัลยาณี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้มอบอำนาจให้บุคคลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ที่ 2 กรณีจึงเป็นเพียงความเห็นของบุคคลภายนอกที่แนบมาท้ายคำร้องของลูกหนี้ที่ 2 แต่อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.363/2547 ตามสำเนารายงานเจ้าหน้าที่ สำเนาบัญชีแยกประเภทรายคดี (รับ – จ่าย) และบัญชีการรับเงินอายัดของลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และส่งกองคำนวณและเฉลี่ยทรัพย์ คำนวณยอดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตามรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ว่า ลูกหนี้ที่ 3 มีหนี้จำนวน 521,095.88 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 (วันถัดจากวันฟ้อง) ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมรวมค่าทนายความจำนวน 16,917 บาท รวมเป็นเงินจำนวนเท่าใด โดยหักเงินที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ทั้ง 28 ครั้ง คงเหลือหนี้เท่าใด ส่วนลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้จำนวน 460,164.38 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 (วันถัดจากวันฟ้อง) ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงินเท่าใด พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำนวน 15,395 บาท รวมเป็นเงินจำนวนเท่าใด โดยหักเงินที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 ทั้ง 28 ครั้ง คงเหลือหนี้เท่าใด ในการคำนวณปรากฏว่าส่วนของลูกหนี้ที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมีภาระหนี้รวม 927,848.07 บาท ภายหลังหักเงินตามที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ทั้ง 28 ครั้ง จำนวน 300,757.87 บาท ออกแล้ว คงมียอดหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 627,090.20 บาท ส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมีภาระหนี้รวม 822,078.92 บาท ภายหลังหักเงินตามที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 ทั้ง 28 ครั้ง จำนวน 200,810.44 บาท ออกแล้ว คงมียอดหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 621,268.48 บาท ตามรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กองบังคับคดีล้มละลาย 1 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2553 และรายงานการคำนวณดอกเบี้ยของกองคำนวณและเฉลี่ยทรัพย์ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า มีการนำเงินที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 หักออกจากยอดหนี้ของลูกหนี้ที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้วปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 3 ยังคงมียอดหนี้ค้างชำระเจ้าหนี้อยู่เป็นเงิน 627,090.20 บาท หนี้ของลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงยังคงไม่ระงับไปทั้งหมด การที่กองคำนวณและเฉลี่ยทรัพย์นำเงินเฉพาะที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 ไปหักชำระจากภาระหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 ย่อมถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ที่ค้ำประกันบางส่วนตามจำนวนเงินที่อายัดจากลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 ในอันต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 3 รับผิดต่อเจ้าหนี้ยังคงเหลืออยู่ 621,269.48 บาท จึงเป็นการคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้องแล้ว หาใช่เป็นการคำนวณที่ผิดพลาดดังข้ออุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 ไม่ ส่วนที่ลูกหนี้ที่ 2 อุทธรณ์ว่า ภายหลังลูกหนี้ที่ 2 ได้ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 4 (ที่ถูก วันที่ 27) สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 เป็นเงินจำนวน 143,202.78 บาท โดยอายัดเงินเดือนจากบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ตามรายการหักเงินเดือน และวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 (ที่ถูก 2554) เป็นเงินจำนวน 110,874.50 บาท ตามรายการหักเงินเดือน นอกจากนั้นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งเงินที่บุคคลภายนอกชำระเงินกู้ซื้อบ้าน และเงินกู้เพื่อสงเคราะห์การครองชีพคืนให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 อีกเป็นเงินจำนวน 68,861.62 บาท ตามสำเนาหนังสือบริษัทดังกล่าวและมีการส่งเงินปันผลจากสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) อีกเป็นเงินจำนวน 9,023.77 บาท ตามสำเนาใบแจ้งรับเงินปันผล เห็นว่า หากเป็นความจริงกรณีก็เป็นการส่งเงินตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 2 ดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นเวลาภายหลังจากลูกหนี้ที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับเงินแล้วจะต้องรวบรวมเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) และมาตรา 109 (1) จึงไม่อาจนำไปคำนวณหักชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้อีก ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 621,268.48 บาท และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของลูกหนี้ที่ 2 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ