คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21188/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งหกเข้าใจข้อหาได้ดี แต่ตามฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยทั้งหกสมคบกัน และได้ตกลงกันว่าจะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อะไร ของผู้ใด ด้วยวิธีการอย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานเป็นซ่องโจร จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92 และ 210 กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 5 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาจริงตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายจับและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 5 นั้น เนื่องจากมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนม พรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ให้ล้างมลทินแก่จำเลยที่ 5 ซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาและได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 5 มิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน กรณีไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 5 ได้ ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา พันตำรวจโทพฤฒ และดาบตำรวจบรรจบ กับพวก จับจำเลยทั้งหกได้พร้อมทรัพย์ของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา นำส่งพันตำรวจตรีไพศาล พนักงานสอบสวนดำเนินคดี คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งหกเข้าใจข้อหาได้ดี แต่ตามฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยทั้งหกสมคบกัน และได้ตกลงกันว่าจะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อะไรของผู้ใด ด้วยวิธีการอย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานเป็นซ่องโจร จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน

Share