คำวินิจฉัยที่ 114/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะผู้คุ้มครองรักษาที่สาธารณะคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินเป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดิน ตามมาตรา ๖๙ ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อผู้อำนวยการเขตหนองแขม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณะ แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันว่าเป็นที่ดินของตน กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๔/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดตลิ่งชัน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๘ นายคารม นาควัชระ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการเขตหนองแขม ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๙๓/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๕๙๔ ตั้งอยู่แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคัดค้านแนวเขตที่ดินข้างเคียงด้านทิศตะวันตกว่าเป็นที่สาธารณะ สำนักงานเขตที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม จึงได้มีหนังสือที่ มท. ๐๕๑๐.๙/๗๕๙๐ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการสอบสวนไกล่เกลี่ย แต่ตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจึงไม่สามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตต่อไปได้ นอกจากนี้กำแพงสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่และป้ายบอกทางหมู่บ้านหรรษา มาเจริญ สร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกการคัดค้านการรังวัดเพื่อทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้มีเนื้อที่ดินเท่าเดิม และให้รื้อถอนป้ายบอกทางหมู่บ้านหรรษา มาเจริญ และกำแพงสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ให้อยู่ในตำแหน่งที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม สอบเขตไว้
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นรังวัดสอบเขต แต่ปรากฏว่าระยะแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีรุกล้ำเข้าไปในทางเท้าถนนมาเจริญ (เพชรเกษม ๘๑) ซึ่งเป็นทางเท้าสาธารณะ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการปรับปรุงตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีมิได้คัดค้านแต่อย่างใด ที่ดินที่พิพาทจึงตกเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย การคัดค้านการรังวัดสอบเขตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนกำแพงสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ของเอกชนไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้มีการรื้อถอนป้ายบอกทางหมู่บ้านหรรษา มาเจริญ เรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๕๙๔ ตั้งอยู่แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และได้ยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม แต่เนื่องจากที่ดินข้างเคียงด้านทิศตะวันตกติดกับทางสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงได้คัดค้านแนวเขตที่ดินสำนักงานเขตที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม จึงได้มีหนังสือที่ มท. ๐๕๑๐.๙/๗๕๙๐ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการสอบสวนไกล่เกลี่ยตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่ตกลงกันไม่ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกคัดค้านการรังวัดและให้ดำเนินการรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้เป็นดังเดิม ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าคำคัดค้านแนวเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตลิ่งชันพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลแห่งคดีที่ฟ้องสืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดแนวเขตที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นทางเท้าที่ประชาชนใช้ประโยชน์มามากกว่า ๑๐ ปี อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการอุทิศให้โดยปริยาย และผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ยกเลิกการคัดค้านการรังวัดแนวเขตที่ดิน อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งคำสั่งนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นประเด็นสำคัญที่โต้แย้งกันอยู่ คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนประเด็นการยกเลิกการคัดค้านการรังวัดแนวเขตที่ดินตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ถือว่าเป็นประเด็นย่อยในคดีที่เกี่ยวเนื่องกันและมีมูลคดีเดียวกันกับประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตหนองแขม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกการคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี เมื่อการคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้คุ้มครองรักษาที่สาธารณะเป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดิน อันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินสาธารณะซึ่งอยู่ข้างเคียง การคัดค้านการรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณะ แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันว่าเป็นที่ดินของตน กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคำขอที่ให้สถานีบริการน้ำมันรื้อกำแพงที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและคำขอที่ให้หมู่บ้านหรรษา มาเจริญ รื้อถอนป้ายบอกทางที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นคำขอที่กระทบสิทธิของเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างดังกล่าว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ฟ้องเอกชนเข้ามาในคดีนี้ อย่างไรก็ตามคำขอทั้งสองข้อของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวก็เป็นข้อพิพาททางแพ่งระหว่างเอกชนด้วยกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายคารม นาควัชระ ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการเขตหนองแขม ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share