แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด แต่ถูกทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเสริมทางสาธารณะ โดยนำดินและหินลูกรังมาถมและรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขต ก็คัดค้านว่าที่พิพาทอยู่ในแนวเขตทางสาธารณะ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ร่วมกันขนดินและหินลูกรังออกจากที่ดินของโจทก์และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า มิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ โจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำทางสาธารณะ การคัดค้านการรังวัดเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องเห็นว่า แม้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาทางสาธารณะและใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๐/๒๕๕๙
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นายพงษ์ศักดิ์ ป้อมทอง โจทก์ ยื่นฟ้องนายมานิตอนรรฆมาศ ที่ ๑ นายองอาจ สังคหัตถากร ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลยางขาว ที่ ๓ จ่าสิบเอก สวัสดิ์ อ่ำทอง ที่ ๔ นายบุญส่ง ชูกุล ที่ ๕ นายสันติภาพ แสงทอง ที่ ๖ นายธงชัย เดชค้ำ ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๐๗/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๘๔ ตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพยุหะคีรี จำเลยที่ ๓ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จำเลยที่ ๔ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางขาว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีหน้าที่ดูแลรักษาทางสาธารณะในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ โจทก์ตรวจสอบที่ดินของโจทก์ดังกล่าว พบว่าทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเสริมทางสาธารณะ โดยความยินยอมของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นำดินและหินลูกรังมาถมและรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๑๑๕ เมตร โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ มอบหมายให้จำเลยที่ ๕ กำนันตำบลยางขาว ยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดสอบเขตใหม่ จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือคัดค้านผลการรังวัดอีก ครั้นเจ้าพนักงานที่ดินนัดรังวัดใหม่ จำเลยที่ ๒ มอบหมายให้จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ปลัดอำเภอไประวังแนวเขต จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ นำชี้แนวเขตทางสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือซึ่งเป็นที่ดินที่มีการถมดินและหินลูกรัง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย จำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๗ ปลัดอำเภอเป็นตัวแทนในการไกล่เกลี่ย โจทก์กับจำเลยที่ ๗ ไม่สามารถตกลงแนวเขตที่ดินกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขนดินและหินลูกรังออกจากที่ดินของโจทก์ และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มิได้กระทำหรือยินยอมให้นำดินและหินลูกรังมาถมทางสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะที่มีไว้สำหรับประชาชนใช้สัญจรตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน โจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำทางสาธารณะ การคัดค้านการรังวัดเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ คัดค้านผลการรังวัด โดยอ้างว่าโจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำทางสาธารณะ แม้การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาทางสาธารณะ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นทางสาธารณะ อันเป็นประเด็นสำคัญในคดี ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การระวังแนวเขตทางสาธารณะของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และตามข้อ ๖ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๘๔ ตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าหน่วยงานของทางราชการนำที่ดินและหินลูกรังมาถมทางสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๑๕ เมตร (ตามคำฟ้อง ๑๑๕ เมตร) คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๑๐ ตาราวา และเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดได้ระวังชี้แนวเขตและคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โดยนำชี้ที่ดินในส่วนที่มีการถมดินและหินลูกรังที่พิพาทว่าอยู่ในแนวเขตทางสาธารณะ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขนดินและหินลูกรังออกไปจากที่ดินที่พิพาทกับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชน ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๘๔ แต่ถูกทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเสริมทางสาธารณะ โดยความยินยอมของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นำดินและหินลูกรังมาถมและรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๑๑๕ เมตร เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดได้ระวังชี้แนวเขตและคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ โดยนำชี้ที่ดินในส่วนที่มีการถมดินและหินลูกรังว่าอยู่ในแนวเขตทางสาธารณะ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขนดินและหินลูกรังออกจากที่ดินของโจทก์ และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มิได้กระทำหรือยินยอมให้นำดินและหินลูกรังมาถมทางสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะที่มีไว้สำหรับประชาชนใช้สัญจรตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน โจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำทางสาธารณะ การคัดค้านการรังวัดเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาทางสาธารณะและใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณะ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพงษ์ศักดิ์ ป้อมทอง โจทก์ นายมานิต อนรรฆมาศ ที่ ๑ นายองอาจ สังคหัตถากร ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลยางขาว ที่ ๓ จ่าสิบเอก สวัสดิ์ อ่ำทอง ที่ ๔ นายบุญส่ง ชูกุล ที่ ๕ นายสันติภาพ แสงทอง ที่ ๖ นายธงชัย เดชค้ำ ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ