แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่า จำเลยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไม่มีความมั่นคง เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าแรงสูงล้มทับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยก็ให้การว่าติดตั้งเสาไฟฟ้าตามมาตรฐาน ความเสียหายเกิดจากความผิดของคนขับรถบรรทุกพ่วงคันที่โจทก์รับประกันภัย เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยตาม มาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย อันจะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไม่แข็งแรงมั่นคง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยหรือไม่นั้น มิใช่ผลโดยตรง จากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไปซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิด ซึ่งเป็นฐานแห่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๓/๒๕๕๙
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงพระนครเหนือ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพระนครเหนือโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลย ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙๓/๒๕๕๗ ความว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๗๙-๓๕๙๘ กรุงเทพมหานคร จากบริษัท ซุปเปอร์แคร์ริเออร์ จำกัด ผู้เอาประกันภัย จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงบริเวณถนนทางเข้าคลังก๊าซ ปตท. โรงโป๊ะ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ นายประไพ สุวรรณวิสุทธิ์ ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยลากพ่วงรถหมายเลขทะเบียน ๗๙-๗๔๔๐ กรุงเทพมหานคร ไปตาม ถนนเข้าคลังก๊าซ ปตท. โรงโป๊ะ มุ่งหน้าไปตามถนนทางหลวงหมายเลข ๗ ด้วยความเร็วตามกฎหมาย และใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี เมื่อถึงบริเวณทางโค้งหมู่บ้านพฤกษาสิริได้หยุดรถเพื่อให้รถคันอื่นไปก่อนเนื่องจากถนนมีลักษณะแคบ ในขณะที่กำลังจะเคลื่อนรถบรรทุกพ่วงคันดังกล่าวปรากฏว่า เสาไฟฟ้าแรงสูงที่จำเลยเป็นเจ้าของและเป็นผู้ติดตั้งได้ล้มทับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเหตุให้รถได้รับความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไม่มีความมั่นคงเพียงพอแก่ความปลอดภัย โจทก์ซ่อมแซมรถยนต์และชำระค่าซ่อมแซมรถยนต์ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลย ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๑,๑๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ก่อสร้างปักเสาไฟฟ้าและพาดสายถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยและควบคุมโดยวิศวกรผู้ชำนาญการ หากไม่มีเหตุปัจจัยภายนอกมากระทบหรือกระแทกอย่างรุนแรง เสาไฟฟ้าก็จะไม่หักหรือล้มลงมาได้ เสาไฟฟ้าของจำเลยเป็นคอนกรีตอัดแรงเสริมเหล็กอย่างดี ออกแบบให้รับน้ำหนักเพียงสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบเสาไฟฟ้าเท่านั้น มิได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันแรงกระแทกจากวัสดุที่มีน้ำหนักจากภายนอก ซึ่งในกรณีนี้เป็นไปไม่ได้ที่เสาไฟฟ้าที่ปักอยู่จะหักล้มทับรถยนต์โดยไม่มีแรงจากภายนอกมากระแทก ซึ่งหากมีเหตุการณ์เสาไฟฟ้าล้มทับรถยนต์บรรทุกพ่วงในครั้งนี้จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกพ่วง ซึ่งมีขนาดความยาวของตัวรถและส่วนพ่วงไม่ต่ำกว่า ๒๐ เมตร เบียดกระแทกเสาไฟฟ้าหักล้มลงเนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นทางโค้ง ถนนแคบ ทั้งจำเลยตรวจสอบและดูแลรักษาระบบจำหน่ายทุกระยะ ๓-๖ เดือน ต่อครั้ง หากมีเสาไฟฟ้าหรือสายชำรุดหรือไม่มั่นคงจะดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาทันทีเสาไฟฟ้าต้นเกิดเหตุของจำเลยมิได้มีสภาพไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใดค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และในประเทศใกล้เคียงตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ และมีอำนาจกระทำการต่างๆ ภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ดังกล่าวซึ่งรวมถึงอำนาจจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามมาตรา ๑๓ (๖) เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงซึ่งอยู่ในครอบครองดูแลของจำเลยล้มใส่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โดยพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างกล่าวถึงการละเลยไม่ดูแลเสาไฟฟ้าที่อยู่ในครอบครองให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงเป็นเหตุให้ล้มลงใส่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นอำนาจโดยทั่วไปของจำเลยเท่านั้น เหตุละเมิดตามฟ้องหาใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของจำเลยแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการผลิตจัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และในประเทศใกล้เคียงตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยจำเลยมีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดๆ หรือปักหรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดๆ และในกรณีจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อป้องกันภยันตรายหรือความเสียหายมีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ของบุคคลใดในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ เพื่อตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือแก้ไขระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ทั้งนี้ จำเลยมีอำนาจจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งการดังกล่าวย่อมรวมถึงการบำรุงรักษาสายไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟ และอุปกรณ์ต่างๆในระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าของจำเลย มิให้ชำรุดบกพร่อง และให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัย ดังนั้น การบำรุงรักษาสายไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟและอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าของจำเลยมิให้ชำรุดบกพร่อง และให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัย จึงถือได้ว่าเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่จำต้องกำหนดหน้าที่ของจำเลยในการบำรุงรักษาสายไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟ และอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ชัดเจนในพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ อีก เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ตรวจสอบดูแลเสาไฟฟ้าแรงสูงให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าแรงสูงล้มทับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรคดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องคดีโดยระบุการกระทำอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไม่มีความมั่นคงเพียงพอแก่ความปลอดภัย เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าแรงสูงล้มทับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า ก่อสร้างปักเสาไฟฟ้าและพาดสายถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย เหตุคดีนี้น่าเชื่อว่า เกิดจากรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งมีความยาวไม่ต่ำกว่า ๒๐ เมตร ผ่านจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้ง ถนนแคบ ทำให้เบียดกระแทกเสาไฟฟ้าล้มลงจึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ความเสียหายเกิดจากการที่จำเลยติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงในลักษณะที่ไม่มี ความปลอดภัย ส่วนจำเลยก็ต่อสู้ว่าติดตั้งเสาไฟฟ้าตามมาตรฐานแล้ว ความเสียหายเกิดจากความผิดของคนขับรถบรรทุกพ่วงคันที่โจทก์รับประกันภัย โดยโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย อันจะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลย ต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไม่แข็งแรงมั่นคง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยหรือไม่นั้น มิใช่ผลโดยตรงจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือ จากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไป ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไปแล้ว จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิด ซึ่งเป็นฐานแห่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ