แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
แม้คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นาย อ. อันเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการของเจ้าพนักงานที่ดินในการสอบสวนเปรียบเทียบสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนาย อ. และขอให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องนาย อ. กับพวก ต่อศาลจังหวัดนครปฐม ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นคดีนี้ ซึ่งการที่ศาลในคดีนี้จะวินิจฉัยว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดที่ดินให้แก่นาย อ. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีหรือนาย อ. มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนาย อ. ต่อศาลจังหวัดนครปฐม มูลความแห่งคดีทั้งสองจึงเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อคดีหลักเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทในคดีนี้จึงควรได้รับการพิจารณาโดยศาลในระบบเดียวกัน ซึ่งได้แก่ศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๔/๒๕๕๙
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครปฐม
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ และวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๗ นายพอง พันธุ์ปา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๑๖/๒๕๕๖ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๖๕ ตารางวา ทิศเหนือจดคลองชลประทาน ทิศใต้จดที่ดินตามโฉนดที่ดินของบริษัท ยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ แอนด์ดิสทิลเลอรี่ จำกัด เลขที่ดิน ๙๑ ทิศตะวันออกจดที่ดินวัดหนองกระพี้และที่ดินมีการครอบครองของนางสาวสายยัณห์ แดงช้อย ทิศตะวันตกจดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๗ และเลขที่ ๗๘ ของนายอรุณ บุญวงศ์ และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐ ของบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ แอนด์ดิสทิลเลอรี่ จำกัด ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดนครปฐม ได้รังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ บุญวงศ์ ในบริเวณที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบ แต่คู่กรณีตกลงกันไม่ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งที่ ๒๖/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ ผู้ขอพร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ที่ ๒๖/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ บุญวงศ์ และให้ยกคำขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินปีละ ๑๖,๘๙๓.๗๕ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้ฟ้องคดีจะได้กลับเข้าทำนาหรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมที่ ๒๖/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินแก่นายอรุณชอบด้วยกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอรุณ บุญวงศ์ ที่ ๑ นายเพ็ชร ล่าบ้านหลวง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครปฐม เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๗๕/๒๕๕๖ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ให้นายอรุณถอนคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและให้ขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหาย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมจึงรอการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทไว้ก่อนจนกว่าศาลจังหวัดนครปฐมจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการใดต่อไป และยังมิได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงมิเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ค่าเสียหายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นค่าเสียหายที่เลื่อนลอย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ มาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล โดยเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งการพิจารณาและใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องพิจารณาสิทธิและหน้าที่ของบุคคล โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น พยานบุคคล รวมทั้งพยานเอกสาร ทั้งหลายที่อยู่ในความครอบครองของฝ่ายปกครองเป็นพยานหลักฐานสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาว่าระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ขอใครเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงพิพาทประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมที่ ๒๖/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นความประสงค์ที่ผู้ฟ้องคดีต้องการให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการใช้สิทธิทางศาลในคดีนี้ เห็นได้ว่า เป็นคำขอที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลปกครองที่จะมีอำนาจออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และแม้ว่าคดีนี้จะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและนายอรุณด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ประเภทหนึ่งของบุคคล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองในเรื่องนั้น ๆ เช่นเดียวกับการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องอื่น ๆ และโดยที่สิทธิในที่ดินเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของบุคคลไม่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน) หรือสิทธิครอบครองที่ดิน (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเห็นได้ว่าสิทธิในที่ดินของบุคคลมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใด ๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสิทธิแห่งทรัพย์สินอยู่ในขอบเขตเนื้อหาของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองได้ อันเป็นการยืนยันว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อหาหลักแห่งคดีประกอบคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว เห็นว่า เป็นการฟ้องเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและเป็นคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีจึงเห็นได้ว่า ประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณาและศาลปกครองจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีแต่ประการใด และโดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมิใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินรายพิพาทหากแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทำโดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนครปฐมพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๖๕ ตารางวา ทิศเหนือจดคลองชลประทาน ทิศใต้จดที่ดินตามโฉนดที่ดินของบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ แอนด์ดิสทิลเลอรี่ จำกัด เลขที่ ๙๑ ทิศตะวันออกจดที่ดินวัดหนองกระพี้และที่ดินมีการครอบครองของนางสาวสายยัณห์ แดงช้อย ทิศตะวันตกจดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๗ และเลขที่ ๗๘ ของนายอรุณ บุญวงศ์ และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐ ของบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ แอนด์ดิสทิลเลอรี่ จำกัด ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ บุญวงศ์ ในบริเวณที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงทำการสอบสวนเปรียบเทียบ แต่คู่กรณีตกลงกันไม่ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งที่ ๒๖/๒๕๕๖ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ ผู้ขอพร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒๖/๒๕๕๖ ฉบับลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ บุญวงศ์ และให้ยกคำขอออกโฉนดที่ดินของนายอรุณ พร้อมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินปีละ ๑๖,๘๙๓.๗๕ บาท นับแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าผู้ฟ้องคดีจะได้กลับเข้าทำนาหรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒๖/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณ บุญวงศ์ อันเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการของเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในการสอบสวนเปรียบเทียบสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนายอรุณ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง และฟ้องขอให้กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องนายอรุณ บุญวงศ์ กับพวก ต่อศาลจังหวัดนครปฐม เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๕๗/๒๕๕๖ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นคดีนี้ ซึ่งการที่ศาลในคดีนี้จะวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายอรุณชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีหรือนายอรุณมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนายอรุณต่อศาลจังหวัดนครปฐม มูลความแห่งคดีทั้งสองจึงเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อคดีหลักเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คู่ความและการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงควรได้รับการพิจารณาโดยศาลในระบบเดียวกัน ซึ่งได้แก่ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพอง พันธุ์ปา ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ