คำวินิจฉัยที่ 101/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาน้ำพอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม ที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุแห่งการฟ้องคดี ๒ ข้อหา ข้อหาแรก ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงครบทุกคน ช่างรังวัดไม่ดำเนินการรังวัดด้วยตนเองโดยปล่อยให้คนงานส่องกล้องและถือปริซึมรีเฟกต์ทำงานกันเอง และกระทำการล่าช้าโดยเลื่อนนัดรังวัดและไกล่เกลี่ยหลายครั้งตั้งแต่วันยื่นคำร้อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการต้องเดินทางมาสำนักงานที่ดินหลายครั้ง โดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สังกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินหลายครั้งเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีในข้อหาแรกนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนคำฟ้องข้อหาที่สอง การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่อาจรังวัดที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีได้สำเร็จเนื่องจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง และผู้แทนนายอำเภอกับผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คัดค้านการรังวัดสอบเขตว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของตนและถนนสาธารณประโยชน์ โดยมี คำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการย้ายแนวเขตทางสาธารณะออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้รื้อบ้านเลขที่ ๑๒๘ ของนางสาว จ. เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น การกระทำของเจ้าของที่ดินข้างเคียง และผู้แทนนายอำเภอน้ำพอง กับผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่คัดค้านการรังวัดนำชี้แนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินข้างเคียงหรือที่ดินสาธารณะ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในกรณี การคัดค้านการรังวัดที่ดินตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนี้ ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินส่วนพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สอบสวนไกล่เกลี่ยผู้ฟ้องคดีที่ขอรังวัดสอบเขตที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านที่มีการคัดค้านแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ โดยตกลงกันว่าคู่กรณีจะไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินต่อไป ตามบันทึกการไกล่เกลี่ย ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีตามข้อหาที่สองนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะในเขตพื้นที่ตำบลท่ากระเสริม ข้อหาที่สองซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันนี้จึงแยกออกได้จากข้อหาแรกในเรื่องการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้ศาลบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดสอบเขตที่ดินและ ปักหมุดโฉนดให้ได้พื้นที่ครบตามโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการย้ายแนวเขตทางสาธารณะออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ก็เป็นผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเป็นคำขอที่แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีย่อมนำคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไปขอให้เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องบังคับให้เป็นไปตามสิทธิของผู้ฟ้องคดีได้ เพราะคำวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๔๕ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นสิทธิในทางทรัพย์สินของบุคคล เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น ข้อหาที่สองนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share