แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล แต่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครู ได้รับการรับรองเป็นองค์การสาธารณประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 และการบริหารงานของกองทุนกระทำในรูปคณะกรรมการ คณะกรรมการกองทุนจึงมีอำนาจกระทำการแทนกองทุนฯ เมื่อคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์ประชุมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์มอบหมายให้ ย. ซึ่งเป็นกรรมการและประธานกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูดำเนินคดีแทนกองทุนฯ และให้ ย. มีอำนาจหรือมอบอำนาจให้ทนายความดำเนินคดีแทนก็ได้ ย. จึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองและแทนกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูคนอื่น ๆ เพื่อเรียกคืนเงินให้แก่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชดใช้เงิน 1,010,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวสุภานัน และนายพงศธร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสองชำระเงิน 810,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 15 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมทั้งสองเป็นเงิน 405,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า นายยวนมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่ององค์กรสาธารณประโยชน์ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาตินั้น พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่มูลนิธิ หรือสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคมหรือองค์กรภาคเอกชนที่มีผลงานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดอาจยื่นคำขอต่อคณะกรรมการให้รับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ได้ คณะกรรมการดังกล่าวคือคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติตามที่นิยามไว้ในมาตรา 3 คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์หรือผู้แทนองค์กรสวัสดิการชุมชนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่งได้แก่ปลัดกระทรวงต่าง ๆ 10 กระทรวงตามที่กฎหมายกำหนด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้แก่ ผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ 8 คน และผู้แทนองค์กรสวัสดิการชุมชน 8 คน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์แล้ว มาตรา 34 วรรคสี่ บัญญัติให้จดแจ้งการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ในทะเบียนองค์กรสาธารณประโยชน์ และให้สำนักงานประกาศการรับรองในราชกิจจานุเบกษาโดยระบุชื่อองค์กรสาธารณประโยชน์นั้น นอกจากนี้องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับการรับรองแล้วยังอาจได้รับการสนับสนุนในการจัดสวัสดิการสังคมตามมาตรา 35 คือ (1) เงินอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (2) การช่วยเหลือจากสำนักงานในด้านวิชาการและการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรสาธารณประโยชน์ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และ (3) การช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด เงินกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมบัญญัติไว้ในมาตรา 25 ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ เงินอุดหนุนจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น และดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากฎหมายให้ความสำคัญแก่องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับการรับรองแล้วเป็นอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 บัญญัติควบคุมการใช้จ่ายเงินขององค์กรสาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยมาตรา 37 บัญญัติให้องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนตามมาตรา 35 (1) จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด กฎหมายดังกล่าวยังบัญญัติมาตรการในการลงโทษองค์กรสาธารณประโยชน์ดังกล่าวไว้ในมาตรา 38 ว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าองค์กรสาธารณประโยชน์ใดมีพฤติการณ์ในการจัดสวัสดิการสังคมที่ไม่สุจริต หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือไม่มีผลงานตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) มีหนังสือแจ้งให้องค์กรสาธารณประโยชน์นั้นชี้แจงข้อเท็จจริงหรือความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งผู้แทนมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นมาประกอบการพิจารณา (2) มีหนังสือแจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นมาประกอบการพิจารณา และมาตรา 39 บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนการรับรององค์กรสาธารณประโยชน์เมื่อได้รับรายงานจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) องค์กรสาธารณประโยชน์ใดมีพฤติการณ์ตามมาตรา 38 และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าองค์กรสาธารณประโยชน์นั้นได้กระทำการโดยไม่สุจริต หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือไม่มีผลงานตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด (2) องค์กรสาธารณประโยชน์ใดได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 38 (1) แล้วไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร และมาตรา 40 บัญญัติว่า เมื่อมีการเพิกถอนการรับรององค์กรสาธารณประโยชน์ใด ให้สำนักงานประกาศรายชื่อองค์กรสาธารณประโยชน์นั้นในราชกิจจานุเบกษา และให้องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถูกเพิกถอนการรับรองส่งเงินอุดหนุนที่ได้รับไปคืนแก่สำนักงานตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กฎหมายบัญญัติรับรองการมีอยู่ขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับรองแล้ว ให้สิทธิได้รับการสนับสนุนในการจัดสวัสดิการสังคมทั้งด้านการเงิน ด้านวิชาการ และอื่น ๆ จากภาครัฐ มีหน้าที่จัดสวัสดิการสังคมให้เป็นไปโดยสุจริตและต้องมีผลงานตามมาตรฐานตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด และยังถูกกำกับดูแลการบริหารงานขององค์กรจากภาครัฐอีกด้วย กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับรองแล้วจึงได้รับการรับรองการมีอยู่ขององค์กร มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีหน้าที่จัดสวัสดิการสังคมให้เป็นไปโดยสุจริตและต้องมีผลงานตามมาตรฐานตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด และยังถูกกำกับดูแลการบริหารงานขององค์กรจากภาครัฐอีกเช่นกัน แม้กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล แต่การบริหารงานของกองทุนกระทำในรูปคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์ประชุมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์มอบหมายให้นายยวนซึ่งเป็นกรรมการและประธานกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูดำเนินคดีแทนกองทุนฯ และให้นายยวนมีอำนาจหรือมอบอำนาจให้ทนายความดำเนินคดีแทนก็ได้ นายยวนจึงมีอำนาจฟ้องในนามของตนเองและกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูคนอื่น ๆ เพื่อเรียกคืนเงินให้แก่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูได้ ที่ในคำฟ้องระบุว่า “กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโดยนายยวน” เป็นโจทก์นั้นจึงเข้าใจได้ว่าเป็นการที่นายยวนฟ้องคดีในนามของตนเองและแทนกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูคนอื่น ๆ นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เห็นควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินคืนแก่คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูหรือไม่เพียงใดซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า ในข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมทั้งสองอ้างกับโจทก์ว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสมทบทุนให้แก่โจทก์ ขอสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแล้วปลอมลายมือชื่อนายยวนและนางเพ็ญนภาถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งในเรื่องนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนที่จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่าจำเลยร่วมทั้งสองรับสมุดคู่ฝากมาจากโจทก์พร้อมใบถอนเงิน จำเลยร่วมทั้งสองไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของนายยวนและนางเพ็ญนภานั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลายมือชื่อนายยวนและนางเพ็ญนภาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในใบถอนเงินที่จำเลยร่วมทั้งสองนำไปยื่นถอนเงินจากจำเลยเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยร่วมทั้งสองและโจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยร่วมทั้งสองเอาเงินของกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยร่วมทั้งสองจึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยนั้นเห็นว่า เป็นกรณีฝากทรัพย์และจำเลยผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะเป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างธนาคารพาณิชย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของนายยวนและนางเพ็ญนภาที่ให้จำเลยไว้ กับลายมือชื่อนายยวนและนางเพ็ญนภาในใบถอนเงินที่จำเลยร่วมทั้งสองนำไปเบิกถอนเงินจากจำเลย แล้วปรากฏว่าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน แสดงว่าพนักงานของจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและไม่ได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างธนาคารพาณิชย์ตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ปฏิบัติ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากตามข้อกำหนดเงื่อนไขทั่วไปข้อ 3. ที่ว่าผู้ฝากเงินจะเก็บรักษาสมุดคู่ฝากไว้ในที่มั่นคงปลอดภัย หากมีเหตุให้บุคคลอื่นได้สมุดคู่ฝากไปและปรากฏว่าธนาคารได้จ่ายเงินไป ผู้ฝากเงินตกลงว่าธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ดี การที่นายยวนมอบสมุดคู่ฝากให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยร่วมที่ 1 จนนำไปสู่การปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินและจำเลยร่วมทั้งสองนำมาเบิกถอนเงินจนเกิดความเสียหายขึ้นแสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาสมุดคู่ฝากดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 จึงควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์น้อยกว่าความเสียหายจริง ประกอบกับจำเลยร่วมทั้งสองนำเงินมาวางศาล 200,000 บาท ซึ่งนายยวนได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว จำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยและจำเลยร่วมชดใช้ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์และฎีกาชั้นศาลละ 3,000 บาท