คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 20/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๐/๒๕๕๐

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

ศาลจังหวัดระยอง
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดระยองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การและศาลทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจโดยศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นางสอาด เกิดแสง ที่ ๑ นายเพลย เหลือถนอม ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่าย ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านค่าย ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดระยอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๖๓๘/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นางเปาว์ เหลือถนอม มารดาของโจทก์ที่ ๑ และเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองนำมาติดตั้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างส่องทางที่ติดตั้งอยู่บนยอดเสาไฟฟ้าของจำเลยที่ ๑ และรั่วไหลลงมาตามลวดสลิงดึงรั้งเสาไฟฟ้าที่จำเลยที่ ๑ ติดตั้งไว้ โคมไฟฟ้าให้แสงสว่างดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๒ ที่ติดตั้งโดยความยินยอมและเห็นชอบของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จักต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบและความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยทั้งสองให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด แต่จำเลยทั้งสองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นค่าปลงศพเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดไร้อุปการะและค่าขาดแรงงานในส่วนของโจทก์ที่ ๒ เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี ปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นเงินจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองได้ติดตามทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน ๑,๔๘๗,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโคมไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าต้นที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นของจำเลยที่ ๒ การติดตั้ง ตรวจสอบและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและปลอดภัยนั้น จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบทั้งหมด อีกทั้งสายไฟฟ้าแรงต่ำที่จ่ายไฟให้กับชุดโคมไฟฟ้าก็เป็นของจำเลยที่ ๒ เช่นกัน ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงเจ้าของเสาไฟฟ้าที่ให้จำเลยที่ ๒ อาศัยติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ได้คิดค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแต่อย่างใด ความตายของนางเปาว์ เหลือถนอม จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า กระแสไฟฟ้าไม่ได้รั่วไหลจากโคมไฟฟ้าของจำเลยที่ ๒ เนื่องจากโคมไฟฟ้าดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานและมีใช้กันทั่วไป จำเลยที่ ๒ ได้จัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รับรองคุณภาพตามระเบียบพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งเขตเทศบาลบ้านค่ายย่อมมีคุณภาพและได้มาตรฐาน การติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะจำเลยที่ ๒ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินและลัดวงจรไว้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ได้บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยอยู่เป็นประจำ โดยมอบหมายให้พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้าง และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องไฟฟ้าสาธารณะออกตรวจสอบ แก้ไข ซ่อมบำรุงไฟฟ้าสาธารณะภายในเขตเทศบาลอยู่เป็นประจำ โดยมีการทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อพิจารณาสั่งการให้แก้ไขความชำรุด จำเลยที่ ๒ ได้ใช้ความระมัดระวังโดยตรวจสอบระบบไฟฟ้าสาธารณะตามระเบียบของทางราชการทุกประการ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด การรั่วของกระแสไฟฟ้าจึงไม่ได้เกิดจากโคมไฟฟ้าที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ นอกจากนั้น ความรับผิดจากการละเมิดตามฟ้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาทนายจำเลยทั้งสองแถลงด้วยวาจาว่าคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดระยองจึงให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งให้ศาลปกครองระยองจัดทำความเห็น ต่อมาศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล การรับฟ้องไว้พิจารณาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗
ศาลจังหวัดระยองเห็นว่า แม้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ แต่การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจึงเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่โดยตรงในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำซึ่งรวมถึงการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างบนทางบกหรือทางน้ำดังกล่าวด้วย อันเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคและระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนั้น การจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบและให้บริการสาธารณะ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยทั้งสองมิได้ตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาให้สิ่งสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะมีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๔๗, ๑๕/๒๕๔๗ และ ๑๐/๒๕๔๘

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว …” และมาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติว่า “ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาโดยอนุโลม” ประกอบกับมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกข้อบังคับซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยในข้อ ๒๘ บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ … คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” และข้อ ๒๙ บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๑) เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้อง (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ (๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป”
ข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นกรณีโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดระยองว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองนำมาติดตั้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างส่องทางที่ติดตั้งอยู่บนยอดเสาไฟฟ้าของจำเลยที่ ๑ และรั่วไหลลงมาตามลวดสลิงดึงรั้งเสาไฟฟ้าที่จำเลยที่ ๑ ติดตั้งไว้ทำให้นางเปาว์ เหลือถนอม ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ ๑ และเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ เสียชีวิต จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จักต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบและความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยทั้งสองให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด แต่จำเลยทั้งสองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ความรับผิดจากการละเมิดตามฟ้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ต่อมาทนายจำเลยทั้งสองแถลงด้วยวาจาต่อศาลจังหวัดระยองว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดระยองจึงให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งให้ศาลปกครองโดยศาลจังหวัดระยองเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง จึงเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดระยอง เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม แต่การโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยทั้งสองในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การและแถลงด้วยวาจาต่อศาลโดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะจึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นของตนเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการทำเป็นคำร้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งก่อน ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งกรณีที่ศาลเห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของศาลตนเองก็ไม่ใช่กรณีที่ถือได้ว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลจังหวัดระยองและศาลปกครองระยองที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองในคดีนี้ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share