คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2691-2694/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ลูกจ้างจะได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานแรงงานจังหวัดต่ออธิบดีกรมแรงงาน และอธิบดีกรมแรงงานเห็นว่านายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง จึงมีหนังสือแจ้งให้นายจ้างนำเงินค่าชดเชยไปชำระให้ลูกจ้างก็ตาม การอุทธรณ์เช่นนี้มิใช่เป็นวิธีการซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จำต้องปฏิบัติ การที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามความเห็นของอธิบดีกรมแรงงานจึงไม่ทำให้นายจ้างต้องรับผิดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะหนังสือของอธิบดีกรมแรงงานเป็นเพียงคำเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เท่านั้น และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้อธิบดีกรมแรงงานจำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในศาลชั้นต้นก็ยังมีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้
เมื่อการเล่นการพนันเป็นการต้องห้ามตามระเบียบของนายจ้าง การที่ลูกจ้างเล่นการพนันนอกเวลาปฏิบัติงานในหอพักซึ่งนายจ้างจัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนงานภายในบริเวณโรงงาน และเป็นการพนันไฮโลว์ตามบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ ย่อมจะเป็นชนวนวิวาทบาดหมางในหมู่คนงานด้วยกัน และชักนำให้ประกอบอาชญากรรมอย่างอื่นได้ มีผลกระทบกระเทือนถึงการผลิตและชื่อเสียงของโรงงานนายจ้าง จึงถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างผูนั้นได้ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องว่ากล่าวตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้

ย่อยาว

คดี ๔ สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษารวมกันมา โดยเรียกบริษัทโรงงานฟอกย้อมฯ จำกัด ว่าโจทก์ เรียกนายจำรูญ เจริญกุล กับพวก (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) จำเลยในสำนวนที่ ๔ ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ เรียกกรมแรงงานกับพวกจำเลยในสำนวนที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ เรียกนายทวี เทพมา และนายวิชัย เรืองศิริ (ลูกจ้าง) โจทก์ในสำนวนที่ ๑ และที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์มั่วสุมเล่นการพนันในห้องพักโรงงานโจทก์ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๒ ส่งฟ้องศาลและศาลพิพากษาลงโทษปรับ ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีคำสั่งเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยให้ จำเลยทั้งสองร้องเรียนต่อพนักงานแรงงานจังหวัด พนักงานแรงงานจังหวัดเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อจำเลยที่ ๑๐ จำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ เห็นว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ไม่เป็นกรณีร้ายแรง ควรตักเตือนเป็นหนังสือก่อนที่จะเลิกจ้าง โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ได้ยื่นข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒ ด้วย ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘
จำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ ให้การว่า จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ลูกจ้างโจทก์ได้เล่นการพนันจริง แต่เล่นที่หอพักอันเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ และเล่นนอกเวลาทำงาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหอพักแต่ก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรง หากโจทก์จะเลิกจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓) คำสั่งของจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ ชอบแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามข้อ ๔๖ (๓) แห่งประกาศดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ มิได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์อันเป็นกรณีร้ายแรงอันควรเลิกจ้างได้ตามมาตรา ๑๖๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๓ นั้น ไม่เป็นการวินิจฉัยขัดต่อประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ เพราะโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ดังที่อธิบดีกรมแรงงานวินิจฉัย ในขณะเดียวกันโจทก์ได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ด้วยการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ ด้วย โจทก์จึงต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ อีกโสดหนึ่ง การเรียกร้องค่าชดเชยไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ซึ่งจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ จะพึงได้ตามกฎหมายอื่นตามข้อ ๗๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ (๙) ในการสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ที่ถูกโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่ ๑ และที่ ๓ จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ กับพวกได้ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ในหอพักซึ่งอยู่ในบริเวณโรงงานและถูกศาลพิพากษาลงโทษ โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ จำเลยทั้งสองได้ร้องเรียนต่อแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ แรงงานจังหวัดสมุทรปราการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงาน อธิบดีกรมแรงงานวินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่สิบเอ็น ๘,๒๘๐ บาท จ่ายให้จำเลยที่สิบสอง ๙,๘๑๐ บาท โจทก์ไม่จ่าย จำเลยทั้งสองได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่สิบเอ็ด ๑๑,๐๐๐ บาท จ่ายให้จำเลยที่สิบสอง ๒๓,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองตามจำนวนดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ชอบที่จะทำได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓) ต้องด้วยข้อยกเว้นของการห้ามเลิกจ้าง ตามมาตรา ๑๒๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงาน และเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ยกฟ้องคดีที่จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒
จำเลยทั้งหมดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทั้ง ๔ สำนวน
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๑๑ จำเลยที่ ๑๐ พิจารณาอุทธรณ์ประกอบกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าชดเชยไปชำระให้จำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ แต่การอุทธรณ์เช่นนี้มิใช่เป็นวิธีการซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จำต้องปฏิบัติ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของจำเลยที่ ๑๐ ก็ไม่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หนังสือของจำเลยที่ ๑๐ คงมีผลเป็นเพียงคำเตือนตามนัยแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๗๗ เท่านั้น แม้โจทก์จะเรียกหนังสือของจำเลยที่ ๑๐ นี้ว่า คำสั่งและคำวินิจฉัย แต่โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเสียได้และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ จะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในศาลชั้นต้นก็ยังมีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกา
การที่ลูกจ้างเล่นการพนันจะเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยไม่จำต้องว่ากล่าวตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้นถึงพิจารณาจากการเล่นการพนันนั้นๆ แต่ละรายไปว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ สำหรับการเล่นการพนันของจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ นี้ แม้จะเล่นนอกเวลาปฏิบัติงาน แต่ก็เล่นในหอพักซึ่งโจทก์จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนงานทั้งหลายภายในบริเวณโรงงาน และเป็นการพนันไฮโลว์ซึ่งเป็นการพนันตามบัญชี ก.ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน ย่อมจะเป็นชนวนวิาทบาดหมางในหมู่คนงานด้วยกันและชักนำให้ประกอบอาชญากรรมอย่างอื่นได้ มีผลกระทบกระเทือนถึงการผลิตและชื่อเสียงของโรงงานโจทก์ จึงมีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๒ โดยไม่ต้องว่ากล่าวตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่เพิพกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานเป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำนวนที่ ๒ ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ นั้นเสีย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share