แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายยินยอมให้นำมูลหนี้ที่จำเลยทำละเมิดโดยการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดอาญาซึ่งยอมความได้มาเปลี่ยนเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างสามีจำเลยกับกรรมการผู้จัดการของผู้เสียหาย ถือว่าคู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยการเปลี่ยนมูลหนี้จากละเมิดเป็นหนี้กู้ยืม เปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยสามีจำเลยเป็นลูกหนี้ซึ่งต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมแทนจำเลย และเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จากบริษัทผู้เสียหายเป็นกรรมการผู้จัดการของผู้เสียหาย สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่มีอยู่เดิมจึงต้องระงับสิ้นไป แม้จะปรากฏว่าไม่เคยมีการชำระเงินตามสัญญากู้ยืมดังกล่าว ก็ไม่มีผลทำให้การแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวเสียไปเพราะสิทธิเรียกร้องยังคงอยู่ กรณีฟังได้ว่าจำเลยและผู้เสียหายได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีต่อกันในทางอาญาโดยการแปลงหนี้ใหม่ จึงถือว่าได้มีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 ให้จำเลยคืนเงิน 28,530.55 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดสามกระทงแรก จำคุกกระทงละ 1 เดือน กระทงที่ 4 จำคุก 3 เดือน กระทงที่ 5 จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน กับให้จำเลยคืนเงิน 28,530.55 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้เสียหายยินยอมให้นำมูลหนี้ที่จำเลยทำละเมิดโดยการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหาย อันเป็นความผิดอาญาซึ่งยอมความได้มาเปลี่ยนเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างสามีจำเลยกับกรรมการผู้จัดการของผู้เสียหาย ถือว่าคู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยการเปลี่ยนมูลหนี้จากละเมิดเป็นหนี้กู้ยืม เปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยสามีจำเลยเป็นลูกหนี้ซึ่งต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมแทนจำเลย และเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จากบริษัทผู้เสียหายเป็นกรรมการผู้จัดการของผู้เสียหาย สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่มีอยู่เดิมจึงต้องระงับสิ้นไป แม้จะปรากฏว่าไม่เคยมีการชำระเงินตามสัญญากู้ยืมดังกล่าว ก็ไม่มีผลทำให้การแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวเสียไปเพราะสิทธิเรียกร้องยังคงอยู่ กรณีฟังได้ว่าจำเลยและผู้เสียหายได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีต่อกันในทางอาญาโดยการแปลงหนี้ใหม่ จึงถือว่าได้มีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน