แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นและขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 มาด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวด้วยแต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 (4) (8), 51, 148, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ควบคุมได้ยากและอาจก่อความเสียหายร้ายแรงได้หากเกิดอุบัติเหตุ การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุด้วยความเร็วสูง ในขณะที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์อยู่ทางด้านหน้าของจำเลยและมีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้าย จำเลยควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งแต่จำเลยกลับขับเร่งเครื่องแซงด้านขวาขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเพื่อจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางแยกเข้าหมู่บ้านโนนแดง โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ทาง ทำให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับเฉี่ยวชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายเป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง แม้ภายหลังเกิดเหตุจำเลยและบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทายาทผู้ตายและผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์แล้วยังไม่มีเหตุที่จะปรานีจำเลยด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมานั้น ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 มาด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวด้วย แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม อีกบทหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6