คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 1/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี มีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล กับผู้ฟ้องคดีในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครอง เมื่อการยื่นคำร้องของผู้ร้องคดีนี้ มิใช่กรณีการเริ่มกระบวนการโดยยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องคดีเพื่อให้ส่งความเห็นไปยังศาลที่ผู้ร้องว่าเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) กรณีดังกล่าวจึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่คณะกรรมการจะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑/๒๕๕๗

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗

เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒


ระหว่าง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ระหว่างผู้ร้องและนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ฟ้องคดี ในคดีของศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ ๒๕/๒๕๕๗

ข้อเท็จจริงในคดี
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕/๒๕๕๗ กรณีคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ให้รับคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา รวมถึงบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตลอดจนการใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่เกิดจากมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม อันเป็นกรณีที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างผู้ร้องและผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้สืบเนื่องมาจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง กรณีคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติให้รับคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางจังหวัด ตั้งแต่วันที่๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา รวมถึงบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตลอดจนการใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่เกิดจากมติคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ดังกล่าว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการ โดยเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ระหว่างผู้ร้องและนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ฟ้องคดี
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นกรรมการ และวรรคสอง บัญญัติว่า หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลกรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดไว้ในมาตรา ๑๐ ว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเดิมนั้นต่อไป
(๒) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งที่คู่ความอ้าง และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
(๓) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องที่คณะกรรมการจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจไว้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลโดยตรงต่อคณะกรรมการ มิใช่กรณีเริ่มกระบวนการโดยการยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องคดีเพื่อให้ส่งความเห็นไปยังศาลที่ผู้ร้องว่าเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) กรณีดังกล่าวจึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่คณะกรรมการจะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้อง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share