คำวินิจฉัยที่ 2/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ซึ่งมูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้เงินตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๘,๙๘๗.๔๔ บาท และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๑๖,๑๑๓ บาท โดยคำพิพากษาของทั้งสองศาลต่างถึงที่สุด ดังนี้แม้ว่าโจทก์จะยื่นคำร้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลคดีหลังสุด อันเป็นการล่วงเลยระยะเวลาตาม ม. ๑๔ แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความไม่ เมื่อคู่ความยังมิได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการจึงรับคำร้องไว้พิจารณา ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและการวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้จนถึงขั้นออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย และมีการตรวจสอบความชอบของการดำเนินการ โดยศาลปกครองกลางซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการแล้วด้วย จึงควรให้มีการดำเนินการไปจนจบขั้นตอน เพื่อให้การเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เรื่อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลฎีกา
ระหว่าง
ศาลปกครองสูงสุด

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กษ ๑๑๑๕/๘๙๕๔ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีนายเอกวิทย์ พูลสมบัติ ข้าราชการสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๑ กรมบัญชีกลาง ที่ ๒ กระทรวงการคลัง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๕๘/๒๕๔๔ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕,๗๗๖ บาท กรณีผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงาน และเป็นกรรมการตรวจรับการจ้างในการจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ และอาคารเก็บเครื่องจักรกล โดยถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีทำบันทึกควบคุมงานและรับมอบงานอันเป็นเท็จว่าผู้รับจ้างตอกเสาเข็มและทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ตอกเสาเข็ม ทำให้ราชการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าความเป็นจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีและกรรมการตรวจรับการจ้างอีกสองคนต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัดส่วนมากน้อยของแต่ละคนโดยผู้ฟ้องคดีต้องรับผิด ๒ ใน ๕ ส่วน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างไปโดยไม่ได้หักค่าเข็มและค่าตอกเสาเข็ม เมื่อนำค่าเข็มและค่าตอกเสาเข็มตามสัญญาจ้างหักออกจากราคาที่ผู้รับจ้างแจ้งงดตอกเสาเข็มแล้ว ทำให้ทางราชการต้องจ่ายค่าจ้างตามสัญญาสูงกว่าความเป็นจริงคิดเป็นเงิน ๓๙,๔๔๐ บาท อันเป็นความเสียหายที่ทางราชการได้รับ ซึ่งผู้ฟ้องคดีและกรรมการตรวจการจ้างจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามส่วนของแต่ละคน จึงสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีและกรรมการตรวจการจ้างอีกสองคนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสัดส่วนมากน้อยของแต่ละคน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕,๗๗๖ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เพราะทางราชการได้ค่างานเพิ่มขึ้นกว่าที่กำหนดตามสัญญาไม่ถือว่าทางราชการได้รับความเสียหาย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๙๘๐/๒๕๔๕ โดยวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีเสนอความเห็นให้งดเว้นการตอกเสาเข็มโดยไม่ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิด แต่การคำนวณค่าเสียหายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ถูกต้อง เพราะมิได้นำค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงแบบอาคารเก็บเครื่องจักรกลมาหักออก คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๕,๗๗๖ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งใหม่ให้รับผิดตามส่วนแห่งความรับผิด โดยคำนวณจากค่าเสียหายจำนวน ๑๒,๖๔๗ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๑๓/๒๕๔๘ แก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งใหม่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดตามส่วนแห่งความรับผิดโดยคำนวณจากค่าเสียหายจำนวน ๘,๙๘๗.๔๔ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ในขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายเอกวิทย์ พูลสมบัติ จำเลย ต่อศาลแขวงดุสิต ในมูลคดีเดียวกัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๖๓/๒๕๔๔ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๖,๑๑๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑๕,๗๗๖ บาท นับแต่วันฟ้อง ศาลแขวงดุสิตพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๕๐๔/๒๕๕๔ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนค่าเสียหายนั้นได้ผ่านการกลั่นกรองทั้งจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกรมบัญชีกลางมาแล้วเชื่อว่าเป็นจำนวนที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ โดยศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ ดังนั้น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจึงขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลว่าต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลใด

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…”
กรณีโจทก์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และผู้ฟ้องคดี (จำเลย) นำคดีขึ้นสู่ศาลสองศาลคือศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลปกครอง และมีการต่อสู้คดีถึงศาลสูงสุดของแต่ละศาล โดยในคดีทั้งสองศาลนั้น มีมูลความแห่งคดีจากเรื่องการกระทำละเมิดของจำเลยในการทำบันทึกควบคุมงานและรับมอบงานเท็จว่าผู้รับจ้างตอกเสาเข็มและทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ตอกเสาเข็ม ทำให้ราชการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าความเป็นจริง จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ เมื่อศาลทั้งสองศาลตัดสินในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดแตกต่างกัน และคำพิพากษาของศาลทั้งสองศาลนั้นถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นเหตุให้คู่ความไม่อาจบังคับหรือปฏิบัติการชำระหนี้ได้ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นกรณีมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ชอบที่คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ แม้ว่าโจทก์จะยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งพิพากษาภายหลังถึงที่สุด แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด เมื่อปรากฏว่าคู่ความยังคงไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสมควรรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๔
คำพิพากษาในคดีของทั้งสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยทำบันทึกควบคุมงานและรับมอบงานเท็จว่าผู้รับจ้างตอกเสาเข็มและทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้กรมส่งเสริมสหกรณ์อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ตอกเสาเข็ม ทำให้ราชการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าความเป็นจริง อันเป็นการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ คงวินิจฉัยแตกต่างกันในจำนวนค่าเสียหาย จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์ควรบังคับค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยในจำนวนความเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาหรือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานของรัฐกรณีที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งบัญญัติเพื่อใช้บังคับแก่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะโดยกำหนดหลักเกณฑ์แตกต่างจากหลักเกณฑ์เรื่องความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกรณีกระทำโดยจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น หรือเรื่องการแบ่งแยกความรับผิดของเจ้าหน้าที่แต่ละคนโดยมิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีการบังคับบัญชากำกับและมีความรับผิดทางวินัยอยู่อีกส่วนหนึ่งด้วย เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ ดังนั้น เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยตรง ทั้งโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้จนถึงขั้นออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย และมีการตรวจสอบความชอบของการดำเนินการโดยศาลปกครองกลางซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการแล้วด้วย จึงควรให้มีการดำเนินการไปจนจบขั้นตอน เพื่อให้การเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้
ฉะนั้น กรณีนี้จึงสมควรให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑บังคับค่าสินไหมทดแทนเอาแก่ผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดขัดแย้งกันระหว่างศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกาให้คู่ความปฏิบัติไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share