คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยมิได้ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี และ 5 ปี นับแต่วันชำระเงินครบถ้วน โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเป็นคำให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จองเพื่อเช่าพื้นที่ในโครงการลพบุรีอินน์ พลาซ่า ของจำเลยที่ 1 โดยวางมัดจำไว้เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาจองเพื่อเช่าพื้นที่ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการประเภทคอฟฟี่คอนเนอร์ มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี ตกลงจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 648,000 บาท โดยชำระเป็นเงินดาวน์จำนวน 194,400 บาท (รวมเงินจองจำนวน 10,000 บาท ด้วยแล้ว) แบ่งชำระเป็นรายงวด ส่วนเงินช่วยค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือจำนวน 453,600 บาท จะชำระให้ในวันโอนสิทธิการเช่าหรือในวันทำสัญญาเช่า โจทก์ได้ชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว และทวงถามให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบพื้นที่เช่า แต่จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนกำหนดการส่งมอบพื้นที่เช่าออกไปต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 หยุดก่อสร้างอาคารส่วนที่โจทก์จองเช่าพื้นที่โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 194,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินที่โจทก์ชำระในแต่ละงวดคำนวณถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 122,482.49 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 316,882.49 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือจำเลยทั้งสองทำสัญญากับโจทก์ ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์มาทำสัญญาเช่าและจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือ แต่โจทก์เพิกเฉย อ้างว่าหากดำเนินกิจการไปก็ขาดทุน จำเลยที่ 1 ไม้ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์ต่างหากที่เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างคืนพร้อมดอกเบี้ยประกอบกับฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี และ 5 ปี นับแต่วันชำระเงินครบถ้วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 316,882.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 194,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบมัดจำที่โจทก์วางไว้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยมิได้ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่อุทธรณ์ว่า ขณะจำเลยที่ 1 ทำสํญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นบริษัทจำกัด นิติกรรมที่ทำกับโจทก์จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์มาทำสัญญาเช่าและจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นบริษัทจำกัด จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการต่อไปว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ในประเด็นเรื่องราวอายุความเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี และ 5 ปี นับแต่วันชำระครบถ้วน โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่า เพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเป็นคำให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แต่ยังมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share