แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าของที่ดินพิพาทและได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทแก่ทายาทไปจนหมดสิ้นก่อน พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3245..ฯ ประกาศมีผลใช้บังคับ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นมรดกที่โจทก์จะใช้สิทธิในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าของเดิมฟ้องคดีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8126 เนื้อที่ 3 งาน 3 ตารางวา เป็นเงิน 757,500 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 474 เนื้อที่ 2 ไร่ 47 ตารางวา เป็นเงิน 2,117,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,875,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์บรรยายคำฟ้องว่า รับมอบอำนาจจากผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่บรรยายให้เห็นว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวคือใครและใครมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีกับรับเงินค่าทดแทนที่ดินจากจำเลย ทั้งโจทก์มิได้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจ และโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหลีก แต่ปรากฏว่าในสารบัญจดทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะส่วนของนางหลีก และโจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเฉพาะส่วนของนางหลีกให้แก่บุคคลอื่นไปก่อนแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการจัดการมรดก ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น โจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ด้วยเหตุใด จังหวัดฉะเชิงเทรามอบถนนสายท่าลาด – สนามชัยเขต ให้อยู่ในความดูแลของจำเลย ถนนสายดังกล่าวระหว่างกิโลเมตรที่ 8 ถึงกิโลเมตรที่ 23.800 มีเขตทางอยู่ห่างจากศูนย์กลางถนนข้างละ 15 เมตร ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางสายท่าลาด – ปลวกแดง มีการดำเนินการสร้างทางตามแนวเขตทางเดิม มีเขตทางอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางข้างละ 15 เมตร ดังเดิม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ถอนฟ้องเฉพาะในส่วนคำขอบังคับจำเลยให้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8126 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 960,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าที่โจทก์ขอ นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 474 เดิมมีชื่อนางหรีดหรือหลีก และนางมงคล และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกัน มีเนื้อที่ตามที่ระบุไว้จำนวน 9 ไร่ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 นางหรีดหรือหลีกถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางหรีดหรือนางหลีกตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2532 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3245 สายท่าลาด – ปลวกแดง ตอนบ้านท่าลาด – อำเภอพนมสารคาม – บ้านเกาะขนุน – บ้านหนองน้ำใส พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นทางหลวงที่ผ่านที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 474 ซึ่งต่อมาปี 2537 ได้มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 474 ระหว่างทายาทของนางหรีดหรือหลีกกับเจ้าของรวมตามที่เจ้าของรวมแต่ละคนครอบครองอยู่ ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความปรากฏว่ามีเนื้อที่ดินเหลือเพียง 6 ไร่ 3 งาน 53 ตารางวาโดยแบ่งออกเป็น น.ส. 3 ก. เลขที่ 2586 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา มีชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง น.ส. 3 ก. เลขที่ 2587 เนื้อที่ 2 ไร่ 66 ตารางวา มีชื่อนายสิทธิพงศ์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง น.ส. 3 ก. เลขที่ 2588 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน ตารางวา มีชื่อโจทก์ นางวาสนา และนายสิทธิพงศ์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกัน ส่วน น.ส. 3 ก. เลขที่ 474 คงเหลือเนื้อที่ 3 งาน ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 474 เนื้อที่ดินส่วนที่ขาดหายไปประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3245.. พ.ศ. 2532 หรือไม่ เบื้องต้นจะได้วินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหรีดหรือนางหลีกเสียก่อน ในข้อนี้ได้ความว่า นางหรีดหรือหลีกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนางหรีดหรือหลีกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2531 และได้มีการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 474 เฉพาะส่วนของนางหรีดหรือหลีกให้แก่ทายาทไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 แต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3245.. พ.ศ. 2532 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2532 ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป อันเป็นเวลาภายหลังจากได้มีการโอนทรัพย์มรดกของนางหรีดหรือหลีกไปเป็นของทายาทแล้ว จึงไม่เป็นมรดกที่โจทก์จะใช้สิทธิในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหรีดหรือหลีกฟ้องคดีได้ ส่วนที่โจทก์ใช้สิทธิส่วนตัวฟ้องคดีนี้นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า บริเวณที่ดินพิพาทเดิมมีถนนสายท่าลาด – สนามชัยเขต ผ่านที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเดิมเป็นถนนลูกรังกว้างประมาณ 8 เมตร แต่เมื่อมีการขยายถนนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3245.. พ.ศ. 2532 นั้นได้สร้างเป็นถนนลาดยาง ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายทองหล่อ พยานจำเลยซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่แขวงการทางฉะเชิงเทราตั้งแต่ปี 2512 ถึงปี 2544 ว่า ทางหลวงบริเวณที่พิพาทเดิมอยู่ในความดูแลของจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2515 จังหวัดฉะเชิงเทรามอบให้แขวงการทางฉะเชิงเทราเป็นผู้ดูแลรักษาตามบัญชีมอบหมายทาง ซึ่งระบุว่าถนนบริเวณดังกล่าวมีเขตทางซึ่งวัดห่างจากจุดกึ่งกลางถนนข้างละ 15 เมตร และเมื่อโจทก์กับทายาทของนางหรีดหรือหลีกกับเจ้าของรวมคนอื่นได้รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลชั้นต้น นายทองหล่อซึ่งเป็นผู้ไประวังแนวเขตในฐานะผู้แทนของแขวงการทางฉะเชิงเทรา ก็ได้นำชี้แนวเขตทางไว้ โดยที่โจทก์และทายาทของนางหรีดหรือหลีกกับเจ้าของรวมคนอื่นมิได้คัดค้านแต่อย่างไรดังที่ได้มีการลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินกันไว้ ตามหนังสือรับรองเขตที่ดินกรมทางหลวง และบันทึกสรุปข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างส่งก็ยืนยันว่าได้มีการกันเขตทางไว้ข้างละ 15 เมตร มาตั้งแต่ปี 2516 โดยไม่ปรกฏว่านางหรีดหรือหลีกเจ้าของเดิมหรือโจทก์หรือเจ้าของรวมคนอื่นคัดค้านแม้จะไม่ปรากฏว่ามีการยกที่ดินพิพาทให้เป็นเขตทางหลวงแต่เมื่อโดยสภาพเป็นเขตทางเช่นนี้ย่อมถือว่าตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ