คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13606/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่า จำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุเกินกว่าสิบสามปี แต่ไม่เกินสิบห้าปี แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215
แม้จะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดอายุของผู้กระทำความผิดต้องอายุไม่เกิน 18 ปี ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดบังคับ ซึ่ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) ที่ใช้บังคับแก่คดีนี้บัญญัติให้การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แม้จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าภายหลังจำเลยและผู้เสียหายได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 24 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง จ. ผู้เสียหายเป็นบุตรของนางกองแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 ขณะเกิดเหตุอายุ 12 ปีเศษ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกข้อเท็จจริงกรณีจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายขึ้นวินิจฉัยโดยจำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุเกินกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้องลง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลจังหวัดจันทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหาย จำเลยกับผู้เสียหายได้จดทะเบียนสมรสแล้วตามใบสำคัญการสมรสท้ายหนังสือ ศย 302.003 (อธ) /284 โจทก์รับว่า จำเลยกับผู้เสียหายได้สมรสกันจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าศาลจังหวัดจันทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหายและจำเลยกับผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกัน เห็นว่า กรณีที่จำเลยไม่ต้องรับโทษถ้าศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงสมรสกันมีเพียงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 เท่านั้น แม้จะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดอายุของผู้กระทำความผิดต้องอายุไม่เกิน 18 ปี ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดบังคับซึ่งมาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) ที่ใช้บังคับแก่คดีนี้บัญญัติให้การกระทำที่จะให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แม้จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าภายหลังจำเลยและผู้เสียหายได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share