คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 1/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลเสียก่อน ส่วนในกรณีศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นเองว่า อยู่ในอำนาจของตนเอง เมื่อจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การซึ่งเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีโดยไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑/๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่
ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

ศาลจังหวัดตรัง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตรังส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ กรมชลประทาน โจทก์ ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด มัธยฐาน กรุ๊ป ที่ ๑ นายสนชัย สัมฤทธิ์ ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.นำเบญจพลพาณิชย์ ที่ ๓ นายเกตุ นำเบญจพล ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๗๗/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑ โจทก์ได้ดำเนินการสอบราคาซื้อปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ชนิดบรรจุถุงกระดาษหนาไม่น้อยกว่า ๓ ชั้น หนักถุงละ ๕๐ กิโลกรัม มอก. ๑๕ เล่ม ๑-๒๕๔๗ ปูนซีเมนต์ผสมและปูนขาวใช้สำหรับงานก่อสร้าง รวม ๓ รายการ เพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างซ่อมแซมรั้วบริเวณหัวงานโครงการชลประทานตรัง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ตามประกาศ กรมชลประทาน เรื่อง สอบราคาซื้อปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ปูนซีเมนต์ผสมและปูนขาว เลขที่ ตง.สช. ๑๓/๒๕๕๑ กำหนดเปิดซองใบเสนอราคา ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๑ โดยมีข้อกำหนด ข้อ ๔.๒ ว่า “ราคาที่เสนอจะต้องเสนอกำหนดยืนราคาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน นับแต่วันเปิดซองใบเสนอราคา โดยภายในกำหนดยืนราคาผู้เสนอราคาต้องรับผิดชอบราคาที่ตนได้เสนอไว้และจะถอนการเสนอราคามิได้” และข้อ ๙.๓ ว่า “ผู้เสนอราคา ซึ่งกรมได้คัดเลือกแล้วไม่ไปทำสัญญาหรือข้อตกลงภายในเวลาที่ทางราชการกำหนด ดังระบุใน ข้อ ๖ กรมจะพิจารณาเรียกร้องให้ชดใช้ความเสียหายอื่น (ถ้ามี) อาทิเช่น ค่าความเสียหายกรณีที่ผู้เสนอราคาต่ำสุดซึ่งทางราชการเรียกให้เข้ามาทำสัญญาแล้วไม่มาทำสัญญา อันส่งผลให้ราชการต้องซื้อกับผู้เสนอราคารายอื่นในราคาที่สูงกว่า เป็นต้น รวมทั้งจะพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ” จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินจำนวน ๒๐๒,๗๒๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาได้ติดต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงินรวมในใบเสนอราคา แต่จำเลยที่ ๑ แจ้งว่า ไม่ได้มอบอำนาจให้นายธีระยุทธ ศรีษะภูมิ ดำเนินการใดๆ ในนามของจำเลยที่ ๑ และไม่ได้มอบอำนาจให้ยื่นซองสอบราคาแก่โครงการชลประทานตรังแต่อย่างใด คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาจึงดำเนินการพิจารณาผู้เสนอราคาต่ำสุดรายถัดไป คือ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเสนอราคาเป็นเงิน ๒๐๕,๒๕๔ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ ๓ ซึ่งมีจำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการว่า โจทก์สนองรับราคาตามที่จำเลยที่ ๓ เสนอ และให้จำเลยที่ ๓ รับใบสั่งซื้อภายในห้าวันทำการ นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วจำเลยที่ ๓ กลับเพิกเฉย และเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่เคยยื่นซองเสนอราคาหรือมอบอำนาจให้ผู้ใดยื่นซองเสนอราคาแก่โครงการชลประทานตรัง และตราประทับกับลายมือชื่อของจำเลยที่ ๔ หุ้นส่วนผู้จัดการ ในใบเสนอราคาและหนังสือมอบอำนาจยื่นซองเสนอราคาเป็นตราประทับและลายมือชื่อปลอม คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาจึงดำเนินการพิจารณารับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี้ยท่งฮวด ผู้เสนอราคาต่ำสุดรายถัดไป ซึ่งเสนอราคารวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๔,๑๙๐ บาท พร้อมทั้งได้ส่งมอบของเสร็จเรียบร้อยแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๒,๙๕๘.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๓๓,๗๘๑.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่เคยทำหนังสือใบเสนอราคาตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่เคยไปเสนอราคาและหรือมอบอำนาจให้บุคคลใดไปเสนอราคาให้กับโจทก์ และได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โดยนายประเวทย์ รำพึงนิตย์ เป็นผู้ปลอมเอกสารทั้งหมด และประทับตราจำเลยที่ ๓ และลงลายมือชื่อจำเลยที่ ๔ ปลอม ซึ่งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ยื่นฟ้องนายประเวทย์ เป็นคดีอาญา หมายเลขดำที่ ๑๗๑๕/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๔๐/๒๕๕๒ ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต่อศาลจังหวัดตรังแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ตามคำฟ้องโจทก์อ้างเพียงจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้อ้างคำเสนอ แต่โจทก์เองซึ่งเป็นผู้รับคำเสนอได้บอกปัดไม่ได้สนองรับภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยโจทก์ในฐานะกรรมการเปิดซองสอบราคาได้พิจารณารับราคาต่ำสุดรายถัดไปคือห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี้ยท่งฮวด จึงทำให้โจทก์ในฐานะผู้รับเสนอราคาสิ้นสุดความผูกพันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และประกอบกับตามคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างเหตุที่นำเอาผู้ประมูลรายใหม่เข้ามา จึงไม่เป็นเหตุทำให้เสื่อมเสียแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เพราะเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองและตามประกาศกรมชลประทาน เรื่อง สอบราคาซื้อปูนงานซ่อมรั้วบริเวณงานโครงการชลประทานตรังเป็นการให้บริการสาธารณะ การที่โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามาดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเข้ามาดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับโจทก์ถือได้ว่าเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดตรังพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาทางปกครองหมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เข้ายื่นซองเสนอราคาขายปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ปูนซีเมนต์ผสมและปูนขาวตามที่โจทก์ได้ดำเนินการสอบราคาเพื่อซื้อปูนซีเมนต์และปูนขาวดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดตามลำดับ แต่เมื่อโจทก์ได้คัดเลือกแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ไปทำสัญญา ทำให้โจทก์ต้องสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี้ยท่งฮวด ซึ่งเสนอราคาที่สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสนอนั้น หาใช่เป็นสัญญาทางปกครองไม่ แม้คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ก็หามีลักษณะของสัญญาดังที่ระบุไว้ไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ประกาศสอบราคาซื้อปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนขาว ใช้สำหรับงานก่อสร้างซ่อมแซมรั้วบริเวณหัวงานโครงการชลประทานตรัง โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีอาชีพขายพัสดุที่สอบราคาซื้อดังกล่าวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าแข่งขันราคาด้วยวิธีการยื่นซองเสนอราคา หากผู้เสนอราคารายใดเสนอราคาที่เหมาะสมแก่การว่าจ้างในราคาต่ำสุด ผู้เสนอราคารายนั้นจะเป็นผู้ชนะการสอบราคาและมีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ มีลักษณะเป็นคำเชื้อเชิญให้ผู้มีอาชีพขายพัสดุทำคำเสนอต่อโจทก์ เมื่อต่อมาเอกชนผู้เสนอราคาได้ยื่นใบเสนอราคาต่อโจทก์จึงเป็นการทำคำเสนอขอเข้าทำสัญญากับโจทก์ และการที่โจทก์ได้พิจารณาอนุมัติรับราคาที่เอกชนเสนอและแจ้งให้มาทำสัญญานั้น ถือว่าโจทก์ได้เลือกให้เป็นผู้ชนะการสอบราคาและได้สนองรับคำเสนอทำให้เกิดสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สัญญาสอบราคาที่คู่สัญญาตามสัญญาสอบราคามีความผูกพันกันในฐานะที่จะเข้าทำสัญญากัน และเมื่อสัญญาสอบราคาดังกล่าวมีคู่สัญญาฝ่ายโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง อีกทั้งโจทก์ก็มีเอกสิทธิ์ในการเลือกคู่สัญญา ควบคุมการปฏิบัติตามสัญญา แก้ไขสัญญา และเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว อันแสดงถึงลักษณะพิเศษในการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเพื่อให้การบริการสาธารณะบรรลุผล ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เข้ายื่นซองเสนอราคาขายปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนขาว ตามที่โจทก์ได้ดำเนินการสอบราคาเพื่อซื้อปูนซีเมนต์และปูนขาวดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดตามลำดับ แต่เมื่อโจทก์ได้คัดเลือกแล้ว จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ไม่ไปทำสัญญา ทำให้โจทก์ต้องสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี้ยท่งฮวด ซึ่งเสนอราคาที่สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสนอ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้เงินค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสอบราคาดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสอบราคาและเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ดำเนินการสอบราคาซื้อปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ ๑ ปูนซีเมนต์ผสมและปูนขาว เพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างซ่อมแซมรั้วบริเวณหัวงานโครงการชลประทานตรัง โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดตามลำดับ แต่เมื่อโจทก์คัดเลือกแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ไปทำสัญญา ทำให้โจทก์ต้องสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวจากบุคคลอื่น ซึ่งเสนอราคาที่สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสนอ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้เงินค่าเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การโดยมิได้ทำเป็นคำร้องว่า คดีนี้เป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดตรังจัดทำความเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งให้ศาลปกครองจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาล เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม การโต้แย้งอำนาจศาลจึงต้องทำเป็นคำร้อง แต่การโต้แย้งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การซึ่งเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีเท่านั้น โดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะจึงเป็นการโต้แย้งอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการที่ศาลจะทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการที่คู่ความยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งเสียก่อน ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของตนเอง เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลจังหวัดตรังและศาลปกครองสงขลาที่เกี่ยวข้องกับโจทก์และจำเลยทั้งหกในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share