แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาบางส่วน ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นเวลา 48 เดือน ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ตกลงเปลี่ยนสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อโดยบันทึกสัญญาไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยว่า ต้องการจะเปลี่ยนจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาเช่าซื้อและคู่สัญญามีเจตนาตกลงเลิกสัญญาซื้อขายกัน แล้วสมัครใจเข้าทำสัญญาเช่าซื้อและจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป สัญญาซื้อขายจึงสิ้นผลผูกพันโจทก์และจำเลยนับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อ ทำให้หนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันระงับไป ด้วยการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์ แต่คำฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายซึ่งระงับไปแล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่จากจำเลยได้ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ ตัดสิทธิโจทก์ที่จะทำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยขายรถยนต์ให้แก่โจทก์ ในราคา ๓๒๓,๐๐๐ บาท โจทก์ชำระเงิน ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เป็นต้นไป โจทก์ชำระเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยตลอดมา จนกระทั่งวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๙ โจทก์นำเงินไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับและจะยึดรถยนต์คืน ต่อมาโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยผ่านทางธนาคารจนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๒๐,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ จำเลยยึด รถยนต์คืน การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการผิดสัญญาซื้อขาย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายจำนวน ๒๒๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่ารถยนต์ตามสัญญา จำเลยทวงถามหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ จึงเปลี่ยนสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็น รายเดือนเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ งวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๑๕ ของเดือนจนกว่าจะครบ หากผิดสัญญาหรือไม่ชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกัน ๓ งวด ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ทันที โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะทำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่ง บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๗ โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บ – ๔๒๘๔ ชัยภูมิ ในราคา ๓๒๓,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ โจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – ๔๒๘๔ ชัยภูมิ ในราคาเช่าซื้อ ๓๒๓,๐๐๐ บาท ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยว่า ต้องการจะเปลี่ยนจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาเช่าซื้อ และคู่สัญญาไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ทั้งโจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงเลิกสัญญาซื้อขายกัน แล้วสมัครใจเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่และจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ดังนั้น สัญญาซื้อขายจึงสิ้นผลผูกพันโจทก์และจำเลยนับตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อ ทำให้หนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ คำฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายซึ่งระงับไปแล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่จากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .