แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คนใช้ปืนเป็นอาวุธขู่จะฆ่าผู้เสียหายให้ถึงตายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป และให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ แล้วลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าในการปล้นทรัพย์นี้ จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงขู่ ซึ่งมีอัตราโทษกำหนดไว้ตามวรรคสี่ มาตรา 340 จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 20 ปีศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
พิพากษาลงโทษจำเลยเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีย่อมมีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกามาด้วย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง คือ
ก. จำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนพกสั้นลูกโม่ ขนาด .๒๒ หนึ่งกระบอกไม่มีเลขหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ กระสุนปืนขนาด .๒๒ ใช้ยิงได้๗ นัด กับปลอกกระสุนปืนขนาด .๒๒ อีก ๒ ปลอก ไว้ในความครอบครองไม่รับอนุญาต
ข. จำเลยทั้งสองกับพวกใช้ปืนเป็นอาวุธ ขู่ว่าจะฆ่านายวิจารณ์ หุตะแพทย์นายล้อ แซ่ตั้น และนางสาวแอ๊ดหรือเฉลิมศรี ยามมีสิน ให้ถึงแก่ความตายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป และเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ลักเอาสร้อยคอทองคำ ๑ เส้น พร้อมด้วยจี้ ราคา ๑๗๕ บาท นาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ราคา ๒๒๐ บาท ของนายวิจารณ์ นาฬิกาข้อมือ ๑ เรือนราคา ๖๐๐ บาท ของนายฮ้อ และสร้อยคอทองคำ ๑ เส้น ราคา ๒๘๐ บาท ของนางสาวแอ๊ดหรือเฉลิมศรีไป
ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒; (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๐มาตรา ๓ กับขอให้ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง และขอให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ทั้งหมดให้เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๒ แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามมาตรา ๙๑ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒๐ ปี ของกลางริบและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ลดโทษจำเลยที่ ๑ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๑๓ ปี ๔ เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์คนละ ๒๐ ปีนั้น ยังคลาดเคลื่อน เพราะตามฟ้องโจทก์ข้อ ข. บรรยายว่าจำเลยทั้งสองกับพวกอีก ๒ คน ใช้ปืนเป็นอาวุธขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตาย เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้ยื่นซึ่งทรัพย์ อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปีแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าในการปล้นทรัพย์นี้ จำเลยที่ ๒ใช้อาวุธปืนยิงขู่ ซึ่งมีอัตราโทษกำหนดไว้ตามมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก แม้จำเลยที่ ๑ มิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีย่อมมีผลถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓, ๒๒๕
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒ โดยกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๒ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เพราะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นเหตุอันควรปรานี คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มี กำหนด ๘ ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์