คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6181/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น เป็นการร้องขอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนตามกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีคำขออย่างใดอย่างหนึ่งในทางที่จะเป็นการบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุพการี และถึงแม้ว่าผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาก็เป็นการกระทำของผู้คัดค้านเอง มิใช่การกระทำของผู้ร้อง และการที่ผู้คัดค้านเข้ามานั้นก็มีผลเพียงทำให้คดีของผู้ร้องเดิมกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทขึ้นเท่านั้นจึงไม่อยู่ในความหมายที่จะเรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบุพการีอันจักต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด คดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นอุทลุม
แม้บันทึกที่ผู้คัดค้านแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องจะไม่มีผลเป็นการยกให้ตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเอกสารที่แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นตามคำเบิกความของผู้ร้องและพยานผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านได้สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นให้เป็นของผู้ร้องแล้วนับแต่วันที่ได้แสดงเจตนานั้นออกมา การที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันดังกล่าว จึงเป็นการเข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ร้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗ ตำบลตลาดยอดอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของพันตำรวจเอกประสงค์ เหวียนระวี บิดาผู้ร้อง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓บิดาผู้ร้องได้ยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องปลูกบ้านอยู่อาศัย เป็นเนื้อที่ ๓๒ตารางวา ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๓ บิดาผู้ร้องจึงได้ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้เข้าครอบครองโดยปลูกบ้านเลขที่ ๗๘ ถนนตานี ตำบลตลาดยอดอำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร อยู่อาศัยมาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานครไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบิดาของผู้ร้อง และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านไม่ได้ยกที่ดินบางส่วนของผู้คัดค้านให้แก่ผู้ร้อง เพียงแต่ให้มีสิทธิอาศัยครอบครองแทนผู้คัดค้านเท่านั้น หนังสือการยกให้เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ผู้ร้องได้รับอนุญาตจากเทศบาลนครกรุงเทพเพื่อปลูกบ้านของผู้ร้องเท่านั้น ทั้งไม่มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะ การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เป็นคดีอุทลุม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗ ตำบลตลาดยอดอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เฉพาะส่วนที่ผู้ร้องครอบครองเนื้อที่ประมาณ ๓๒ ตารางวา ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ร.๕ เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า คดีของผู้ร้องเป็นอุทลุม ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ หรือไม่ และผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ ปัญหาแรกนั้นคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ตามคำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นการร้องขอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่กรณีที่ผู้ร้องมีคำขออย่างใดอย่างหนึ่งในทางที่จะเป็นการบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านซี่งเป็นบุพการี และถึงแม้ว่าผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านเข้ามา ก็เป็นการกระทำของผู้คัดค้านเอง มิใช่การกระทำของผู้ร้องและการที่ผู้คัดค้านเข้ามานั้น ก็มีผลเพียงทำให้คดีของผู้ร้องเดิมนั้นกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทขึ้นเท่านั้น แต่ผลของคดีตามคำขอของผู้ร้องก็คงเดิม คือไม่มีผลในทางที่จะบังคับเอาแก่ตัวผู้คัดค้านที่เป็นบุพการีของผู้ร้องแต่ประการใด อันจะอยู่ในความหมายที่จะเรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบุพการีของตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้นคดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นอุทลุม ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองนั้น ข้อที่จะชี้ให้เห็นว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่นั้น คงมีข้อโต้เถียงในชั้นฎีกาเพียงว่า ผู้คัดค้านได้แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องเข้าไปปลูกสร้างบ้านในปี ๒๕๑๓ หรือไม่ พิเคราะห์ปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าผู้ร้องมีคำของผู้ร้องและคุณหญิงละมูนเบิกความต้องกันว่า คุณหญิงละมูนเป็นคนไปพูดขอที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งผู้คัดค้านก็ตกลงยกให้ผู้ร้อง และเพื่อป้องกันปัญหาที่จะมีกรณีพิพาทกันต่อไปภายหน้า คุณหญิงละมูนขอให้ผู้คัดค้านทำหลักฐานไว้ให้ ผู้คัดค้านจึงได้ทำบันทึกเอกสารหมาย ร.๒ ให้ คุณหญิงละมูนเป็นญาติผู้ใหญ่ของผู้ร้องและผู้คัดค้าน ทั้งเป็นน้าและมารดาเลี้ยงของผู้คัดค้านคำของคุณหญิงละมูนจึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านได้แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องจริง ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากบันทึกของผู้คัดค้านตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ร.๒ ที่มีข้อความว่า “…ข้าพเจ้า พ.ต.อ.ประสงค์ เหวียนระวี…ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗…ได้ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเดิมปลูกสร้างอาคารเลขที่ ๗๘ เนื้อที่ประมาณ ๓๒ ตารางวา ในโฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้น ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นางสาวสุรีย์ เหวียนระวี บุตรเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยต่อไป… ” ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการยกที่ดินส่วนนี้ให้ผู้ร้อง ข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าบันทึกเอกสารหมาย ร.๒ ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ร้องไปขออนุญาตปลูกสร้างต่อเจ้าพนักงานตามที่ผู้ร้องแจ้งต่อผู้คัดค้านนั้น เป็นข้ออ้างที่ขัดกับหลักฐานที่ปรากฏกล่าวคือ ตามเอกสารหมาย ร.๓ ซึ่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานนั้น ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ ก่อนวันที่ผู้คัดค้านจะทำบันทึกเอกสารหมาย ร.๒ ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๓จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องขอจะต้องให้ผู้คัดค้านทำเอกสารหมาย ร.๒ เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างต่อเจ้าพนักงานอีก เอกสารหมาย ร.๒ นั้นกลับเป็นการยืนยันให้เห็นข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของคุณหญิงละมูนที่ว่าต้องการให้ผู้คัดค้านทำหลักฐานไว้ว่าได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านในที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ส่วนข้อความในวรรคท้ายของเอกสารหมาย ร.๒ ที่ว่า “นางสาวสุรีย์ เหวียนระวีได้ตกลงยินยอมทำความตกลงว่า เนื้อที่ดินที่ได้ยกให้ปลูกบ้านนี้ ต่อไปภายหลังจำทำ(น่าจะหมายถึงจะทำ) การซื้อขายให้ผู้อื่น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ยกกรรมสิทธิ์ให้ก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความในวรรคท้ายนี้กลับเป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่า เป็นการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แม้จะนำไปซื้อขายก็ได้ เพียงแต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้านก่อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการที่ผู้ร้องจะจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปเท่านั้น และที่ทำเป็นเงื่อนไขในการโอนต่อไปของผู้ร้องในทำนองดังกล่าวก็คงจะเนื่องมาจากเหตุที่ว่า ผู้คัดค้านยกที่ดินบางส่วนในโฉนดให้เท่านั้น การจะโอนต่อไปยังบุคคลภายนอกอาจจะเกิดปัญหาในการที่จะเข้าเป็นเจ้าของร่วมกันก็ได้ แม้เอกสารหมาย ร.๒ จะไม่มีผลเป็นการยกให้ตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเอกสารที่แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นตามคำเบิกความของผู้ร้องและคุณหญิงละมูนว่า ผู้คัดค้านได้สละกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นให้เป็นของผู้ร้องแล้ว นับแต่วันที่ได้แสดงเจตนานั้นออกมา การที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนนี้ นับแต่ที่ผู้คัดค้านให้แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์ให้ จึงเป็นการเข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันนั้นดังนั้น เมื่อผู้ร้องได้ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share