แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ทางราชการมิได้ใช้ที่ดินพิพาทที่ได้รับการให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามความประสงค์ของผู้ให้ ก็ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเกิดสิทธิที่จะบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทก่อสร้างอาคารหรือปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้อาคารที่ก่อสร้างจะถูกรื้อไปแล้วก็ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วกลายเป็นไม่ผิด การกระทำของบริษัทจำเลยที่ 2 ที่กระทำลงไปนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 360 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 ร่วมกันปลูกสร้างอาคาร 8 หลัง ลงบนถนนเจริญนครซึ่งเป็นทางสาธารณะ และปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเสียหาย เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ ผู้อื่นไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 83, 360 ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาที่เข้ายึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 4,000 บาท จำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงเรื่องการก่อสร้างอาคารตามฟ้องเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่งโดยรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2 จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาในส่วนที่จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปยึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายน้อยและนางจิ้มลิ้ม ต่อมาบุคคลทั้งสองจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ทางราชการเป็นสาธารณประโยชน์ การกล่าวอ้างว่าทางราชการมิได้ใช้ที่ดินพิพาทก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามความประสงค์ที่มีผู้ยกให้ ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเกิดสิทธิที่จะบุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารหรือปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้อาคารที่ก่อสร้างจะถูกรื้อไปแล้วก็ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วกลายเป็นไม่ผิดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่กระทำลงไปนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองมาโดยไม่ปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 360 ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษบทนี้มาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องโดยลงโทษไม่สูงกว่าเดิมได้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่โทษให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.