คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยและภรรยาได้จดทะเบียนหย่ากันที่อำเภอ และได้ให้ถ้อยคำในบันทึกหลังทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนว่า ภรรยาจำเลยได้ยืมเงินจากโจทก์มายังไม่ได้คืน จำเลยและภรรยาได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าบันทึกถูกต้อง ดังนี้ บันทึกหลังทะเบียนหย่าถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 โจทก์นำหลักฐานนั้นมาฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมได้
หลักฐานการกู้ยืม ไม่ใช่สัญญากู้ยืม แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรก็รับฟังเป็นพยานได้ (อ้างฎีกาที่ 368/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับภรรยาได้ร่วมกันยืมเงินโจทก์ไป ต่อมาจำเลยกับภรรยาได้หย่าขาดจากกัน จำเลยกับภรรยาได้บันทึกไว้หลังทะเบียนหย่าว่าภรรยาได้ยืมเงินโจทก์ไป โจทก์ถือว่าเงินที่ยืมไปนั้นเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับภรรยา จำเลยต้องรับผิดครึ่งหนึ่ง ได้ให้ทนายทวงถามให้จำเลยชำระ แต่จำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า ไม่เคยยืมเงินโจทก์ บันทึกหลังทะเบียนหย่าไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม จำเลยลงชื่อในบันทึกเพราะสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม บันทึกนั้นจึงเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยและภรรยาได้ยืมเงินโจทก์ไปจริงเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้คืนให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ให้จำเลยและภรรยายืมเงินไปจริง บันทึกหลังทะเบียนหย่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ โจทก์นำมาฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมได้ จำเลยไม่ได้ลงชื่อในบันทึกโดยสำคัญผิด บันทึกหลังทะเบียนหย่าเป็นเพียงหลักฐานการกู้ยืมเงิน ไม่ใช่สัญญากู้ยืม แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ก็รับฟังเป็นพยานได้ ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๘/๒๕๐๖
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.

Share