แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาข้อ 2.1เป็นข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดี จึงรับฎีกา ส่วนฎีกาข้อ 2.2ถึงข้อ 2.4 เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้าม จึงไม่รับฎีกา
จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาในข้อ 2.2 และข้อ 2.3 เป็นฎีกาในเรื่องสิทธิในครอบครัว จึงไม่ต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ส่วนฎีกาในข้อ 2.4 นั้น เป็นเรื่องค่าตอบแทน เมื่อรวมเงินต้นค่าทดแทนดอกเบี้ยตามคำพิพากษา และค่าทนายความ ในชั้นอุทธรณ์แล้ว ทุนทรัพย์มีจำนวนเงินเกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามฎีกา โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.4 ของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 117)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลย หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ โดยให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงเบญจรัตน์กิจรุ่งโรจนาพร กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง (27 กันยายน 2533)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาเฉพาะข้อ 2.1 ส่วนฎีกาข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.4 ไม่รับ (อันดับ 109)
จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 112)
คำสั่ง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 ขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรและขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นการไม่ชอบจึงให้รับฎีกาข้อ 2.2ถึงข้อ 2.4 ของจำเลยทั้งสอง ไว้ดำเนินการต่อไป