แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำให้การของจำเลยที่อ้างถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 สับกัน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะพิมพ์คลาดเคลื่อนไปโดยไม่มีเจตนาจะให้การเช่นนั้นเพราะถ้าได้มีการแก้ข้อผิดพลาดจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 และจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 แล้ว ข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสองก็จะเป็นข้อเถียงตรงตามประเด็นในคำฟ้องทุกประการ ซึ่งการแก้คำที่พิมพ์ผิดพลาดเช่นนี้ ศาลมีอำนาจให้แก้ได้เสมอ แม้จะขอแก้ภายหลังชี้สองสถานก็แก้ได้ การที่ศาลชั้นต้นถือเอาคำให้การที่พิมพ์ผิดพลาดมาเป็นข้อวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 รับตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ ไม่มีประเด็นอื่น แล้วงดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ถูกต้อง ฉะนั้น เหตุที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ จึงชอบแล้วหาได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่
(อ้างฎีกาที่ 316-318/2500)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญายกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๕๕๑ ให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหลานโดยเสน่หา โดยจำเลยที่ ๑ รับจะเลี้ยงดูโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ด่าหมิ่นประมาทโจทก์ร้ายแรง และไม่ยอมเลี้ยงดูโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยสมยอมกัน ขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง และเพิกถอนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การไว้ จำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท มิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา จำเลยที่ ๒ ไม่เคยทะเลาะและไม่เคยดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่เคยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง การที่จำเลยที่ ๒ โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปโดยสุจริต โดยเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า ยกที่ดินให้จำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองกลับยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับการยกที่ดินจากโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าเป็นผู้รับการให้ และไม่ได้ต่อสู้ว่าไม่ได้หมิ่นประมาทโจทก์ จึงไม่มีประเด็นนำสืบถือว่าจำเลยที่ ๑ รับตามฟ้องและจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า ได้รับโอนที่พิพาทโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ไม่มีประเด็นสืบเช่นกัน จึงฟังว่าจำเลยทั้งสองได้โอนและรับโอนที่พิพาทโดยรู้ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้ซึ่งจะเพิกถอนการให้ได้เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลโจทก์พิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๑ ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้เพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ โอนโฉนดเลขที่ ๕๕๑ คืนให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้าง และจำเลยต่อสู้ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่อ้างถึงจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ สับกัน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะพิมพ์คลาดเคลื่อนไป โดยไม่มีเจตนาจะให้การเช่นนั้น เพราะถ้าได้มีการแก้ข้อผิดพลาดจากจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๒ และจากจำเลยที่ ๒ เป็นจำเลยที่ ๑ แล้ว ข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสองก็จะเป็นข้อเถียงตรงตามประเด็นในคำฟ้องทุกประการ ซึ่งการแก้คำที่พิมพ์ผิดพลาดเช่นนี้ ศาลมีอำนาจให้แก้ได้เสมอแม้จะขอแก้ภายหลังชี้สองสถานก็แก้ได้ ไม่ต้องห้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ (ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๖ ถึง ๓๑๘/๒๕๐๐) การที่ศาลชั้นต้นถือเอาคำให้การที่พิมพ์ผิดพลาดมาเป็นข้อวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ รับตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ให้การต่อสู้ ไม่มีประเด็นอื่นแล้วงดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ถูกต้อง ฉะนั้น เหตุที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว หาได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่โจทก์ฎีกามาไม่
พิพากษายืน