แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้พิจารณาข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญในประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(3) จึงขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานในคดีต่อไป โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา ต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 48)
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระ ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ (อันดับ 43)
โจทก์ยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 46)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริง ตามที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์แสดงเจตนาไม่ต้องการทำงานกับ จำเลยและลาออกแล้ว จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ที่โจทก์ อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เพราะคำให้การของพยานจำเลยขัดกัน อุทธรณ์ของโจทก์ ดังกล่าวเป็น การโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ลาออกจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระอีกครึ่งเดือนเป็นเงิน 7,500 บาทนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกและจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ ถึงวันที่โจทก์ลาออกเพียง 2 วัน เป็นเงิน 1,000 บาท จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้วให้ยกคำร้อง