คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากโจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพียง7 วัน จำเลย สามีจำเลย และบุตรร่วมกันตั้งบริษัทจำเลยร่วม โดยจำเลยสามีจำเลย และบุตรเป็นกรรมการบริษัท ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 821เพราะขณะนั้นจำเลยร่วมยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจเชิดผู้ใดเป็นตัวแทนได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองฉบับ จำเลย สามีจำเลยและบุตรรู้เห็นการทำสัญญาทั้งสองฉบับ วัตถุแห่งหนี้กับวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือการโอนที่ดินพิพาทในราคาและกำหนดเวลาเดียวกัน ทั้งเมื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันแล้ว ได้มีการเปิดทางให้ตามที่มีข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนานถึง 2 ปีเศษ แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยร่วมเป็นผู้ซื้อมิใช่จำเลย และไม่มีข้อตกลงเปิดทางก็ตาม โดยพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าจำเลยทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของจำเลยร่วม และเท่ากับเป็นการตกลงโดยปริยายของจำเลยร่วมยอมรับและถือเอาข้อตกลงเรื่องเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมด้วย
ข้อตกลงเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท มีลักษณะคล้ายภาระจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิ ถ้าไม่จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 แต่ก็เป็นอันใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาซึ่งรวมทั้งโจทก์กับจำเลยร่วมด้วยในฐานะบุคคลสิทธิ

Share