คำสั่งคำร้องที่ 1878/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่หักไว้ 1,000 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำส่วนที่ขาดอีก 3,464 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 41) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 46)

คำสั่ง คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ต้องเข้าทำงานโดยมีการตอกบัตรลงเวลาเข้าและเวลาออกและโจทก์ต้องมาทำงาน ยังสถานที่ที่จำเลยจัดหาไว้ให้โดยโจทก์ได้รับค่าจ้างวันละ 90 บาท จำเลยมีอำนาจควบคุมกำหนดสถานที่และวันทำงานของโจทก์ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงาน เงินประกัน ที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ 1,000 บาท เป็นเงินประกัน ความเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อไม่มีความเสียหาย จำเลยต้องคืนให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลา เข้าออกเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในเรื่องจำเลยให้ประกันค่าฝีมือแก่โจทก์ในอัตรา 90 บาทต่อวัน การตอกบัตรดังกล่าวก็เพื่อนำมาคิดคำนวณเงินประกันฝีมือแต่ละวันที่โจทก์มาทำงาน โจทก์หยุดงานในเดือนกรกฎาคม 2537 เป็นเวลา 7 วันเดือนสิงหาคม 2537 เป็นเวลา 4 วัน ซึ่งเป็นวันทำงานตามปกติจำเลยก็ไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากการทำงาน วันที่ 20 สิงหาคม 2537 โจทก์ตอกบัตรออกจากที่ทำงานเวลา 15.37 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ ลูกจ้างแรงงานยังทำงานปกติอยู่จำเลยก็ไม่ได้ลงโทษ โจทก์ต้อง มาทำงานในสถานที่จำเลยจัดหาไว้ให้ เพราะจำเลยเป็นบริษัท ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ได้รับ การยกเว้นภาษีจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำหนดวันทำงานของ โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์และ จำเลยต่างให้ประกันซึ่งกันและกันในลักษณะสัญญาต่างตอบแทนโดยจำเลยให้เงินประกันค่าฝีมือ 90 บาทต่อวันแก่โจทก์ โจทก์ก็ วางเงินประกัน 1,000 บาท แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิยึดเงินประกันดังกล่าว เห็นว่าอุทธรณ์ของ จำเลยเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ของศาลแรงงานกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดี แรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้วให้ยกคำร้อง

Share