คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

‘เคหะ’ ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ.2489มาตรา 5 นั้น มีความหมายในเบื้องต้นว่า ต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
สิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ถึงประกอบธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมด้วย ก็ยังนับว่าเป็น’เคหะ’ แต่ถ้าสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งไม่อยู่ในความหมายของคำว่า ‘เคหะ’ แล้ว แม้จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย ก็ไม่กลับกลายเป็นเคหะขึ้นมาได้
โจทก์เช่าโรงเลื่อยเพื่อเลื่อยไม้จำหน่าย นับว่าเช่าสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่ประกอบธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมโดยตรง ไม่ต้องด้วยลักษณะของคำว่า’เคหะ’ ตามความในพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าปี 2489

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สามีโจทก์และโจทก์ได้เช่าโรงเลื่อย และเครื่องอุปกรณ์พร้อมด้วยที่ดินโรงเรือนจากกรมยุทธโยธาทหารบกซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ากรม และจำเลยที่ 2, 3 เป็นข้าราชการอยู่ในกรม สัญญาเช่าสิ้นอายุวันที่ 31 มีนาคม 2489 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2489 จำเลยที่ 4 ได้รับซื้อโรงเลื่อยและเครื่องอุปกรณ์พร้อมทั้งที่ดินโรงเรือนจากกรมยุทธโยธาทหารบก แต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ และจำเลยที่ 4 ได้ยอมให้โจทก์เช่าต่อไปอีก 6 เดือนแต่ในเดือนมีนาคม 2489 จำเลยที่ 1 และที่ 4 กลับไม่ยอมให้โจทก์เช่าต่อไป ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2489 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2489 เวลากลางวัน จำเลยสมคบกันยึดโรงเลื่อย และเครื่องอุปกรณ์ ปิดใส่กุญแจไว้แล้วให้จำเลยที่ 4 ทำการเลื่อยไม้ต่อไปจนบัดนี้ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินน้อยลงถึงกับโจทก์หลุดจากการเช่า ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ปี 2489 มาตรา 10, 11, 16, 18

ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ 4 ยื่นข้อตัดฟ้องของโจทก์หลายประการศาลชั้นต้นงดการไต่สวนมูลพ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เช่าโรงเลื่อยทั้งเครื่องอุปกรณ์เลื่อยพร้อมด้วยที่ดินโรงเรือนเลื่อยไม้จำหน่าย นับว่าเช่าสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่ประกอบธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมโดยตรง ไม่ต้องด้วยลักษณะของคำว่า “เคหะ” ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน2489 แม้จะได้ความว่ามีการอยู่อาศัยด้วยก็ดี ก็ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งปลูกสร้างให้กลับกลายเป็นเคหะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นผิด พิพากษายืน

Share