แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ แม้สัญญาประกันจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อความเดิมซึ่งกล่าวหาว่าออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น และมีการแก้ไขจำนวนเงินเดิม 150,000 บาท โดยขีดฆ่าจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรออกแล้วพิมพ์ใหม่ว่า 86,600 บาท เนื่องจากตามระเบียบกำหนดให้ผู้ประกันรับผิดไม่เกินจำนวนเงินในเช็คที่ถูกกล่าวหา แต่ข้อความเดิมและข้อความที่เพิ่มเติมก็เป็นข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั่นเอง มิได้เพิ่มเติมข้อหาความผิดอื่นแต่อย่างใด และจำนวนเงินประกันที่แก้จากเดิมก็เป็นผลดีแก่จำเลย ทั้งมีการขีดฆ่าจำนวนเงินที่ประกันและลงจำนวนเงินที่ประกันใหม่ต่อหน้าจำเลยก่อนที่จำเลยจะลงชื่อในสัญญาประกันดังกล่าว สัญญาประกันจึงเป็นเอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2526 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายวินัย ฐิตรัตนาภรณ์ ซึ่งต้องหาว่า กระทำผิดทางอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ส่งมอบให้โจทก์จำเลยได้เข้าทำสัญญาประกันตัวนายวินัยต่อโจทก์โดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาตามที่โจทก์จะกำหนดวันนัดให้ทราบ ถ้าจำเลยไม่นำตัวนายวินัยมาส่งตามกำหนดนัด จำเลยยอมใช้เงินเป็นเงิน 86,600บาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปชั่วคราวแล้ว ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหา จำเลยทราบนัดแล้วไม่สามารถนำผู้ต้องหามาส่งให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงสั่งปรับจำเลยเป็นเงิน 86,600 บาทตามสัญญาประกัน จำเลยไม่ชำระค่าปรับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 86,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยได้วางหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดินเลขที่ 10461 ตำบลดำเนินสะดวกอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 91 ตารางวา ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไว้ต่อร้อยตำรวจตรีสมพร แดงดีพนักงานสอบสวนเป็นหลักประกัน แต่ไม่ได้กำหนดว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้เงินหากผิดสัญญาประกันตามคำร้องขอประกัน ฉบับลงวันที่ 10เมษายน 2526 โจทก์ได้ร่วมกับร้อยตำรวจตรีสมพรเติมข้อความอันเป็นเท็จลงในสัญญาประกันฉบับดังกล่าว ข้อ (1) ว่า “ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น” และในสัญญาข้อ (2) ว่า “86,600บาท…แปดหมื่นหกพันหกร้อยบาทถ้วน” โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดส่งตัวผู้ต้องหาอีก โจทก์ไม่ได้เสียหายจริงดังฟ้อง หากเสียหายก็ไม่เกิน 500 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 86,600 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาประการแรกว่า สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชอบชดใช้เงินในกรณีผิดสัญญาประกันและเป็นเอกสารปลอมเนื่องจากมีการขีดฆ่าจำนวนเงินที่ประกัน 150,000 บาทออก แล้วเพิ่มเติมใส่จำนวนเงิน 86,600 บาทลงไปโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกัน และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.2 จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อความเดิมซึ่งกล่าวหาว่าออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่าออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น และมีการแก้ไขจำนวนเงินเดิม 150,000 บาท หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน โดยขีดฆ่าจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรออกแล้วพิมพ์ใหม่ว่า 86,600 บาท แปดหมื่นหกพันหกร้อยบาทถ้วน และร้อยตำรวจตรีสมพรกับจำเลยมิได้ลงชื่อกำกับข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไว้ ทั้งจำเลยเบิกความว่าร้อยตำรวจตรีสมพรให้จำเลยลงชื่อในสัญญาประกันที่ยังไม่มีข้อความว่าออกเช็คโดยขณะที่ออกไม่มีเงินในบัญชี และในข้อ 2 ไม่มีข้อความ 86,600 บาทก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายดาบตำรวจทองเหมาะ และร้อยตำรวจตรีสมพรพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่านายดาบตำรวจทองเหมาะเป็นผู้พิมพ์สัญญาประกันว่าหากผิดสัญญาประกันยอมใช้เงิน 150,000บาท ร้อยตำรวจตรีสมพรตรวจสอบสัญญาประกันแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะตามระเบียบกำหนดให้ผู้ประกันรับผิดไม่เกินจำนวนเงินในเช็คที่ถูกกล่าวหา จึงแก้ยอดเงินประกันลงเหลือ 86,600 บาท เท่าจำนวนเงินในเช็คที่ถูกกล่าวหาต่อหน้าจำเลย และจำเลยได้อ่านสัญญาประกันเรียบร้อยแล้วจึงลงชื่อไว้ เห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเป็นทนายความซึ่งโดยปกติจะต้องใช้ความระมัดระวังอยู่แล้วในการทำสัญญาต่าง ๆที่มีผลผูกพันจำเลย ทั้งจำเลยได้ลงชื่อในสัญญาประกันดังกล่าวทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่กำหนดวันเวลาให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะลงชื่อในสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.2 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดยไม่มีข้อความต่าง ๆ อยู่แล้วหรือโดยไม่ได้อ่านข้อความในสัญญาประกันดังกล่าวทั้งข้อความเดิมและข้อความที่เพิ่มเติมนั้นก็เป็นข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั่นเอง มิได้เพิ่มเติมข้อหาความผิดอื่นแต่อย่างใด และจำนวนเงินประกันที่แก้จากเดิมจำนวน 150,000 บาท ลงเหลือจำนวน 86,600 บาท ก็เป็นผลดีแก่จำเลยด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วจึงเชื่อว่าได้มีการขีดฆ่าจำนวนเงินที่ประกันและลงจำนวนเงินที่ประกันใหม่ต่อหน้าจำเลยแล้วก่อนที่จำเลยจะลงชื่อในสัญญาประกันดังกล่าว ดังนั้นสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นเอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ส่วนเรื่องอำนาจฟ้องนั้นพยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อมีการร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวน ผู้มีอำนาจพิจารณาคือโจทก์ซึ่งเป็นสารวัตรใหญ่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะเป็นผู้ลงนามแทนสารวัตรใหญ่ ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้”
พิพากษายืน