คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ว่า จำเลยอยู่ในระหว่างปรับปรุงกิจการ มีงานน้อย จึงมีความจำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้พนักงานอื่นมีงานทำ ขอปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานเท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นเหตุเลิกจ้างเพียงประการเดียว ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างนั้นเป็นข้อต่อสู้ จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ค่าน้ำมันรถที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างเดือนละ 5,000 บาทเป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอน มีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือนถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนผลิตชิ้นส่วนอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาท และได้ค่าน้ำมันรถเป็นประจำเดือนละ 5,000 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดย โจทก์มิได้มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถค้างจ่ายและค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงาน ขาดงานบ่อย จำเลยไม่เคยตกลงให้ค่าน้ำมันรถแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 17,000 บาท ค่าน้ำมันรถค้างจ่ายเป็นเงิน32,000 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยมีสิทธิยกข้อต่อสู้ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงาน ขาดงานบ่อย เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)และฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่า การที่จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ว่า จำเลยอยู่ในระหว่างปรับปรุงกิจการ มีงานน้อย จึงมีความจำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้พนักงานอื่นมีงานทำ ขอปลดโจทก์ออกจากเป็นพนักงานของจำเลยนั้นเท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นเหตุเลิกจ้างเพียงประการเดียว ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นข้อต่อสู้ จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ จำเลยจึงยกเหตุที่ว่าโจทก์ขาดสมรรถภาพการทำงาน ขาดงานบ่อยเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) (3) ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 90,000 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะค่าน้ำมันรถเดือนละ 5,000 บาท ไม่ใช่ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ในปัญหานี้ได้ความว่าค่าน้ำมันรถที่โจทก์ได้รับเดือนละ 5,000 บาท นี้ โจทก์ได้รับเป็นประจำทุกเดือนเป็นเงินจำนวนแน่นอนมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือนถือว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ค่าน้ำมันดังกล่าวจึงเป็น “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าน้ำมันรถที่โจทก์ได้รับจากจำเลยเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share