คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้โอนซึ่งเป็นทายาท แต่มิได้ครอบครองที่ดินมรดกเกิน1 ปีแล้ว ไปขอรับมรดกที่ดินใส่ชื่อตนคนเดียว โดยโจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้ครอบครองที่ดินมรดกอยู่ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยแล้ว ต่อมาได้โอนที่ดินนั้นให้บุตรของตนซึ่งผู้รับโอนรู้อยู่แล้วว่า เป็นที่ดินมรดกที่โจทก์ครอบครองอยู่ ดังนี้ ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตแม้เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็เพิกถอนได้

ย่อยาว

ได้ความว่า นางแพภรรยาโจทก์เป็นบุตร ผ. จำเลยที่ 1 ผ. ได้โอนที่นาพิพาทให้นางแพเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางแพต่อมานางแพตายเมื่อ พ.ศ. 2486โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมาฝ่ายเดียวเกิน 1 ปี เมื่อ พ.ศ. 2490 ผ. จำเลยที่ 1 ได้โอนโฉนดรับมรดกนางแพ โจทก์ได้ฟ้อง ผ. ขอแบ่งที่ดินรายนี้ และขออายัดที่ดินไว้ ภายหลังโจทก์ถอนฟ้องคดีเสีย จำเลยขอถอนอายัด แล้วโอนทะเบียนขายที่ดินนั้นให้จำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นบุตรของตนซึ่งจำเลยที่ 2-3 เคยเช่าทำนานั้นแบ่งข้าวให้โจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์จำเลยที่ 2-3 รู้ดีว่าเป็นที่ของโจทก์รับโอนโดยไม่สุจริต ให้เพิกถอนการโอน ส่วนที่บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอแบ่งส่วนเฉลี่ยมรดกด้วย ศาลไม่ได้พิพากษาให้แบ่งมรดก จึงไม่แบ่งให้

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ครอบครองมาเกิน 1 ปี ควรมีกรรมสิทธิ์ แต่ยังหาได้จดทะเบียนสิทธิไม่ จะใช้ยันบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิแล้วไม่ได้

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ผู้เป็นสามีและทายาทนางแพได้ครอบครองมาฝ่ายเดียว จนล่วงพ้นอายุความมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทไม่ได้ครอบครองที่ดินรายนี้ จนล่วงเลยอายุความมรดกแล้วได้ไปขอใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2-3 ก็รู้อยู่ดีว่าเป็นที่ของโจทก์ การโอนขายให้จำเลยที่ 2-3 นั้น เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสามกระทำไปโดยไม่สุจริตโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เพิกถอนนิติกรรมนี้ได้ตามมาตรา 237

พิพากษากลับ และให้โจทก์มีสิทธิจะจดทะเบียนสิทธิต่อไป

Share