คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายให้ประกอบกิจการจัดหางาน แต่จำเลยได้ใช้การประกอบกิจการจัดหางานเป็นกลอุบายหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเพื่อให้ส่งมอบเงินค่าบริการแก่จำเลย การหลอกลวงดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนโดยทั่วไป เพียงแต่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่บ้าน แล้วพวกผู้เสียหายก็ชวนกันไปสมัครงานกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาจัดหางานให้แก่คนหางานโดยเรียกและรับเงินค่าบริการจากคนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน โดยบรรยายฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนว่า ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาและไม่สามารถที่จะจัดส่งผู้ใดไปทำงานได้ตามที่ได้หลอกลวงไว้แต่อย่างใด เช่นนี้แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่พวกผู้เสียหายแต่ประการใด จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดหางานมาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341, 343 ซึ่งแก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 8, 27 และให้จำเลยคืนเงิน 154,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาให้การรับสารภาพข้อหาจัดหางานโดยเรียกและรับเงินค่าบริการโดยมิได้รับอนุญาต คงปฏิเสธข้อหาฉ้อโกงประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 จำคุก 5 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย4 ปี ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มาตรา 27 ปรับ 800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในฐานนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงปรับ 400 บาทถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน และให้จำเลยคืนเงิน 154,000 บาทให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ฐานฉ้อโกง แต่ให้จำเลยคืนเงิน 154,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยได้รับสมัครคนไปทำงานต่างประเทศ ผู้เสียหายทั้งห้าคนได้สมัครไปทำงานกับจำเลย ในการนี้จำเลยได้เรียกค่าบริการจากผู้เสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 154,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศตามที่จำเลยบอกแก่ผู้เสียหายได้ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการประกอบกิจการจัดหางานของจำเลย จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายแต่อย่างใด อันเป็นเหตุประการแรกที่แสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลย ทั้งจำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้จัดหาตำแหน่งงานไว้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีนายจ้างจากต่างประเทศมีความไว้วางใจจำเลยมาติดต่อให้จำเลยจัดหาคนงานให้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าขณะผู้เสียหายมาสมัครงานมีตำแหน่งงานรออยู่พร้อมแล้วย่อมขาดเหตุผล รับฟังไม่ได้ ทั้งได้ความจากนายบำเรอ ต่ายเพ็ชรนายสุพจน์ กาญจนาเคหาสน์ และนายชลอ อารีย์ ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานโจทก์สอดคล้องต้องกันว่า จำเลยได้เปิดรับสมัครคนงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยจำเลยให้คำรับรองและยืนยันว่า ถ้าสมัครกับบริษัททอปเอเยนซี่ จำกัด ของจำเลยแล้วจะได้ไปทำงานในต่างประเทศแน่นอนเร็วกว่าบริษัทอื่น แต่ในที่สุดเมื่อถึงกำหนดนัดเดินทาง จำเลยก็ไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายเดินทางไปต่างประเทศได้ จำเลยได้ขอผัดผ่อนการเดินทางไปหลายครั้งจนกระทั่งครั้งสุดท้ายก็ยังไม่อาจส่งผู้เสียหายไปทำงานได้ตามที่สัญญาไว้กับผู้เสียหายรวมทั้งเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อชำระเป็นค่าบริการคืนให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนก็ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งหมดทุกฉบับ พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการชี้ชัดว่าจำเลยได้ใช้การประกอบกิจการจัดหางานดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นกลอุบายหลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเพื่อให้ส่งมอบเงินค่าบริการแก่จำเลย แต่ในการหลอกลวงดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนโดยทั่วไป กลับได้ความว่าจำเลยได้ไปชักชวนผู้เสียหายที่บ้าน แล้วพวกผู้เสียหายก็ชวนกันไปสมัครงานกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 เท่านั้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนข้อหาจัดหางานให้แก่คนหางานโดยเรียกและรับเงินค่าบริการจากคนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษต้องกันมานั้นโจทก์ได้บรรยายถึงข้อหาดังกล่าวในตอนบรรยายฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนว่า ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาและไม่สามารถที่จะจัดส่งผู้ใดไปทำงานในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางได้ตามที่ได้หลอกลวงไว้แต่อย่างใด เช่นนี้แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่พวกผู้เสียหายแต่ประการใด จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดหางานมาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากผู้เสียหายเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามมาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 154,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

Share