แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้สามัญที่นำยึดทรัพย์ที่จำนองมาขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ร้องต่อศาลขอให้หักเงินที่ขายได้ใช้หนี้จำนองก่อนและขายทอดตลาดไปโดยปลอดจำนอง ดังนี้ เมื่อหักใช้หนี้จำนองแล้ว ถือว่าหนี้จำนองได้บังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ซื้อทอดตลาดทรัพย์นั้นไปย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนอง
เจ้าหนี้จำนองแม้จะเป็นคนเดียวกันกับเจ้าหนี้สามัญที่ขอให้ยึดทรัพย์จำนองมาขายทอดตลาด ก็ขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยบุริมสิทธิของตนก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289
ย่อยาว
ความว่า ก. บิดาจำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ 2 ราย คือหนี้เงินกู้ 400 บาทและหนี้จำนอง สวนยางรายพิพาท 5,000 บาท หนี้เงินกู้ ก. ได้ฟ้องโจทก์และปรานีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์ไม่ใช้ในกำหนดตามยอมและคำบังคับของศาล ก. ได้ขอให้ศาลยึดสวนยางรายพิพาทขายทอดตลาดก่อนขาย ก. ได้ร้องต่อศาลว่า โจทก์ได้จำนองสวนยางรายนี้เป็นเงิน 5,000 บาทขอให้หักเงินที่ขายได้ใช้หนี้จำนอง และขายทอดตลาดโดยไม่ติดจำนองศาลอนุญาต จำเลยซื้อทอดตลาดสวนยางพิพาทได้ในราคา 5,070 บาทหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินสุทธิ 4,791 บาทเศษ ซึ่งศาลจ่ายให้ ก. ในฐานะเจ้าหนี้จำนองทั้งหมด โจทก์มาฟ้องขอไถ่การจำนอง และขอให้ศาลสั่งว่าการขายทอดตลาดและหนังสือซื้อขายที่อำเภอทำให้จำเลยไม่ผูกพันโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า การที่โจทก์ไม่ทราบการขายทอดตลาด โดยถูกญี่ปุ่นจับตัวไป หาทำให้การขายทอดตลาดเสียไปไม่การที่ ก. ฟ้องเรียกเงินกู้โดยไม่ฟ้องบังคับจำนอง แต่ภายหลัง ก. ได้ขอให้หักชำระหนี้จำนอง ถือได้ว่า ก. ได้ปลดจำนองให้โจทก์สิทธิจำนองระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า มิได้มีข้อห้ามจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ไว้แต่อย่างใดว่า จะต้องฟ้องขอให้บังคับจำนองก่อนบังคับชำระหนี้สามัญ การที่ ก. นำยึดที่พิพาทและศาลสั่งขายทอดตลาด เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นชอบแล้ว และการที่ ก. มายื่นคำร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจบุริมสิทธิโดยขอให้ศาลขายที่พิพาทโดยปลอดจำนองนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 หนี้จำนองถูกบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองเสร็จสิ้นแล้ว
พิพากษายืน