แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยให้การว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศและนิติกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาต้องเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 แต่หลังจากจำเลยยื่นคำให้การ ดังกล่าว ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยายังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ชี้สองสถานหรือสืบพยาน จำเลยก็มิได้โต้แย้ง กลับแถลงว่ามีพยานพร้อมจะสืบจำนวน 3 ปาก ตามวันที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยากำหนดนัดซึ่งเป็นวันว่างของคู่ความ และเมื่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีกเช่นกัน จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาจนล่วงเลยเวลาที่จะเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่แล้ว
คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพิ่มเข้ามาจำนวนมากมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 และมาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ซึ่งจำเลยจะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เช่นนี้ เป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2544 จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544 สั่งจ่ายเงิน 170,991.91 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าจัดส่งสินค้าให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 182,662.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 170,991.91 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าว่าจ้างโจทก์จัดส่งสับปะรดอันเป็นสินค้าของจำเลยไปให้ลูกค้าของจำเลย ณ เมืองดามัม ประเทศซาอุดีอาระเบียโดยทางเรือ ตามข้อตกลงระบุให้โจทก์มีหน้าที่จัดจ้างเรือ จัดเตรียมเอกสารให้การส่งออกและจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ปลายทางด้วย แต่โจทก์ผิดสัญญาโดยจัดส่งเอกสารให้แก่ลูกค้าของจำเลยล่าช้าเป็นเหตุให้ลูกค้าไม่ยอมชำระเงินค่าสินค้าของจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินตามเช็คพิพาทและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลนี้ เนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน 182,662.11 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 179,011.91 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 ธันวาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยานั้น เห็นว่า แม้จำเลยให้การว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศและนิติกรรมที่เกี่ยวเนื่องไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาต้องเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 แต่หลังจากจำเลยยื่นคำให้การดังกล่าว ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยายังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ชี้สองสถานหรือสืบพยาน จำเลยก็มิได้โต้แย้งกลับแถลงว่ามีพยานพร้อมจะสืบจำนวน 3 ปาก ตามวันที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยากำหนดนัดซึ่งเป็นวันว่างของคู่ความ และเมื่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีกเช่นกัน จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาจนล่วงเลยเวลาที่จะเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่แล้ว และถือได้แล้วว่าคดีนี้ไม่มีปัญหาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป การที่จำเลยฎีกาขึ้นมาอีกว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าประหว่างประเทศไม่ใช่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายอีกประการหนึ่งว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงในข้อนี้ได้ความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นขยายระยเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2546 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2546 โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์จากนั้นในวันที่ 24 กันยายน 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยเวลาอุทธรณ์แล้วถึง 9 เดือนเศษ จำเลยจึงเพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ดังกล่าวไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลย เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพิ่มเข้ามาจำนวนมากมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 และมาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งจำเลยจะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เช่นนี้ เป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ ดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้