คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง จะทำเป็นคำร้องต่อศาลก็ได้ หรือจะฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทก็ได้

ย่อยาว

คดีนี้ ผู้ร้องว่าเป็นบุตรนายกาฮิน เกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2476 ต่อมาในปี 2484 บิดาส่งผู้ร้องไปประเทศจีนชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2493 ผู้ร้องกลับเข้ามาประเทศไทยเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ยอมให้อยู่ในประเทศไทยโดยถือว่าไม่ใช่คนไทย จึงขอให้ศาลแสดงว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย

ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์ 1 เดือนกับส่งสำเนาคำร้องให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ๆ คัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว มีสัญชาติจีน เกิดในประเทศจีน ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2493 และผู้ร้องได้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นไทยตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งยกคำร้องถึงที่สุดแล้วจะมาร้องทางศาลอีกไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง

เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกคัดค้านเช่นนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาคดีอย่างมีข้อพิพาท และวินิจฉัยว่า แม้รัฐมนตรีฯ สั่งยกคำร้องตามมาตรา 27 แล้วผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะร้องขอให้ศาลวินิจฉัยได้ตามมาตรา 28 ในข้อเท็จจริงฟังแสดงว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย จึงมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกฎีกาในข้อเท็จจริงต่อมา

ศาลฎีกาตรวจประชุมปรึกษาคดีแล้ว ปัญหาว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยหรือจีนนั้นก็โดยจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยหรือประเทศจีนเป็นหลัก ความข้อนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ร้องจะต้องพิสูจน์ และได้นำสืบว่าชั้นต้นเมื่อประมาณ 23 ปีมาแล้ว นายกาฮินชนเชื้อชาติและสัญชาติจีนอายุ 16 ปี ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาอยู่กับนายอึ้งหรือหมิ่นซูบิดาที่จังหวัดพิษณุโลกมีอาชีพตั้งร้านเย็บเสื้อยังไม่เคยมีภริยา ต่อมา 3 ปีได้แต่งงานกับนางซุ่น ประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกตลอดมาจนบัดนี้ มีบุตรถึง12 คน เหลือมีชีวิตอยู่ 10 คน นายกาฮินมีภริยาคนเดียวนี้ ทั้งไม่เคยกลับไปประเทศจีนเลย เกิดบุตรคนหัวปีเป็นชายในปี 2476 ชื่อนายจันฟีหรือเจ็งฟีได้ขึ้นทะเบียนในคราวสำรวจสำมะโนครัวปี 2480 ไว้แล้วเป็นหลักฐาน

ผู้ร้องนี้จะใช่นายจันฟีหรือเจ็งฟีบุตรชายคนหัวปีของนายกาฮินนางซุ่น เกิดที่พิษณุโลกหรือไม่นั้นผู้ร้องนำสืบว่า ในพ.ศ. 2484 ปู่ย่าผู้ร้องไปเมืองจีนได้นำเอาผู้ร้องกับน้องผู้ร้องอีก 2 คน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่งไปด้วย ขณะนั้นผู้ร้องอายุ 8-9 ขวบ แล้วน้องชายไปตายน้องหญิงแต่งงานที่เมืองจีน ใน พ.ศ. 2493 นายกาฮินบิดาสั่งให้ผู้ร้องกลับพิษณุโลกเพื่อขึ้นทะเบียนทหารเพราะอายุ 18 ปีแล้วผู้ร้องจึงเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 1 สิงหาคม 2493 นายกาฮินไปคอยรับ แต่เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ยอมให้อยู่ในประเทศไทยจึงมาร้องขอพิสูจน์ต่อศาล มีนายกาฮิน นางซุ่นสามีภริยายืนยันว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชายคนหัวปีเกิดที่พิษณุโลก ชื่อนายจันฟีหรือเจ็งฟี และมีคนเก่า ๆ อายุมากในถิ่นนั้น เช่นนายเลี่ยวอายุ72 ปี กับนายประยูร อินทรทัต ปลัดอำเภอและนายเสงี่ยม ศรีเปรมซึ่งเคยรู้จักเคยเห็นบุตรคนหัวปีนั้นมาแต่เด็กก่อนไปเมืองจีนได้เห็นผู้ร้องตอนนี้ก็ยืนยันว่ามีเค้าเป็นคน ๆ เดียวกัน

ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่า ผู้ร้องคือนายจันฟีหรือเจ็งฟีบุตรหัวปีของนายกาฮิน นางซุ่นเกิดที่พิษณุโลกจริง คราวเข้ามาแม้จะพูดไทยไม่ค่อยได้ก็อาจเป็นโดยหลงลืมเพราะไปอยู่เมืองจีนแต่เล็กและนานปี และชื่อมารดาผู้ร้องในสำมะโนครัวผิดเพี้ยนกัน ในที่ต่างแห่งก็อาจเป็นโดยออกสำเนียงให้จดไม่ชัดได้

ข้อที่อัยการพิษณุโลกผู้คัดค้านแถลงเข้ามาภายหลังอีกว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ยอมเชื่อว่าโจทก์มีสัญชาติไทย ก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นจำเลยเป็นคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น

มาตรานี้ บัญญัติการเสนอคดีต่อศาลไว้ 2 ประการ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งประการหนึ่ง และเมื่อบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลอีกประการหนึ่ง

เท่าที่ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไม่ยอมให้อยู่ในประเทศไทยถือว่าไม่ใช่คนไทยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีลักษณะจะเสนอคดีต่อศาลได้ทั้ง 2 ประการ กล่าวคือ การจะใช้สิทธิทางศาลก็อยู่ในข่ายไม่จำเป็นจะต้องตั้งรูปคดีมีข้อพิพาทโจทก์จำเลยขึ้น โดยพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 มาตรา 28 บัญญัติไว้ว่า กรณีเช่นนี้ให้ผู้ร้องร้องขอพิสูจน์ต่อศาลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ร้องได้ปฏิบัติไปถูกต้องตามกฎหมายนั้น และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ในประการที่ 2 ดังกล่าวแล้วข้างต้นทั้งศาลชั้นต้นก็ได้ออกประกาศและแจ้งให้พนักงานอัยการผู้เป็นทนายแผ่นดินทราบ จนได้ทำการพิจารณาอย่างมีข้อพิพาทแล้ว ตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกา 1317/2495 และ 1499/2495 ที่อัยการอ้างมานั้นเป็นเรื่องที่บุคคลเข้ามาอยู่ในประเทศไทยถือทะเบียนเป็นคนต่างด้าวแล้วภายหลังกลับจะอ้างว่า เป็นคนไทยขอขึ้นทะเบียนทหาร เจ้าหน้าที่ทะเบียนทหารว่าเป็นคนต่างด้าวไม่ยอมรับขึ้นให้ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ร้องพิสูจน์ต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้จึงต้องดำเนินอย่างคดีมีข้อพิพาทตามมาตรา 55 ประการแรกรูปคดีต่างกัน

ศาลทั้งสองปรึกษามาชอบแล้ว

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไป

Share