แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้พักงานโจทก์และขอให้จ่ายค่าจ้างซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในขณะที่โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นครั้งที่สองโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งโดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ถูกจำเลยเลิกจ้างและเรียกร้องในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ ก็เป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ครั้งแรกแม้คดีทั้งสองจะถึงที่สุดแล้ว แต่ทั้งสองคดีมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทก็แตกต่างกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเกี่ยวกับเงินทดรองโดยโจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลยแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีเจตนาจะส่งคืน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและการค้าชำระเงินทดรองยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
โจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลย ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินทดรองและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์ก็เพิกเฉยไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยทั้ง ๆ ที่จำเลยได้จ่ายเงินค่าเสียหายในระหว่างที่มีคำสั่งพักงานโจทก์ให้แก่โจทก์ไปแล้ว และแม้จำเลยจะมีคำสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานและมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกันก็เป็นเพียงวิธีการที่จำเลยจำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องเงินทดรองอันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2537 ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 41,060 บาท เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2538 จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ และต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2538จำเลยมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างโดยให้นับอายุการทำงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้าง ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2541 จำเลยมีคำสั่งที่ 20/2541 เรื่องยกเลิกคำสั่งและรับพนักงานกลับเข้าทำงานรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และในวันเดียวกันจำเลยมีคำสั่งที่ 21/2541 เรื่องเลิกจ้างพนักงานเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 246,360 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,060 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 1,464,180 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน287,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและจ่ายค่าเสียหาย 1,464,180บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์ตามคำสั่งที่ 82/2538 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2538 และสอบสวนทางวินัย ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าโจทก์ทำผิดจริงจำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานตามคำสั่งที่ 109/2538 ลงวันที่ 1 กันยายน 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ระหว่างคดีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางเรียกเงินทดรองที่โจทก์ยืมจำเลยไปในระหว่างปฏิบัติหน้าที่คืนจากโจทก์ ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์คืนเงินทดรองแก่จำเลย จำเลยทวงถามหลายครั้งแต่โจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้ต่อมาในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งที่ 82/2538 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้างโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้าง คำขออื่นให้ยกวันที่ 25 มีนาคม 2541 จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 20/2541 ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานแต่จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับเรื่องเงินทดรองโดยไม่นำเงินที่เหลือมาคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันยืม หรือนำหลักฐานการจ่ายเงินมาหักทอนบัญชี เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จงใจทุจริตต่อหน้าที่ หากให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ 21/2541หลังจากโจทก์ทราบคำสั่งที่ 20/2541 และคำสั่งที่ 21/2541 ของจำเลยแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 18747/2541 ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 82/2538 และให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน2538 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นเงิน 1,368,666 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542 ให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ และจำเลยได้ชำระเงินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว เนื่องจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน พฤติการณ์ตามฟ้องในคดีนี้ทั้งหมดตั้งแต่คำสั่งที่ 20/2541 และคำสั่งที่ 21/2541 มีผลใช้บังคับและโจทก์ทราบคำสั่งแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องมาให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกันแต่มาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำ นอกจากนี้โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วโดยคดีดังกล่าวโจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้างโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้าง คำขออื่นให้ยก เท่ากับศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องในประเด็นดังกล่าวที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ทั้งหมดซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากจำเลยได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามกฎหมายหลายครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 246,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,060 บาท กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (17 กันยายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำแถลงของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 41,060บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2538 จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ ตามคำสั่งที่ 82/2538 เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ 109/2538 เอกสารหมาย จ.2 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4621/2539 ตามเอกสารหมาย จ.3 ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 ตามเอกสารหมาย จ.4 คดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง โดยให้นับอายุการทำงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้าง ครั้นวันที่ 25 มีนาคม2541 จำเลยมีคำสั่งที่ 20/2541 ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเอกสารหมาย จ.6 ในวันเดียวกันได้มีคำสั่งที่ 21/2541 ให้เลิกจ้างโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.7 โจทก์เคยทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างถูกสั่งพักงาน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อเรียกค่าจ้างระหว่างถูกสั่งพักงานเป็นคดีหมายเลขดำที่ 18747/2541ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542 ตามเอกสารหมาย จ.8 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามเอกสารหมาย จ.9 นอกจากนี้จำเลยเคยฟ้องโจทก์ข้อหาผิดสัญญากู้ยืมเงินทดรองต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4790/2539 ตามเอกสารหมาย จ.10 ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 9201/2539 ให้โจทก์คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 คดีถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์ จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.12
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542 และคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542 และคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 จะมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันและคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 82/2538 ที่ให้พักงานโจทก์และขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน2538 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทั้งนี้เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในขณะที่โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 21/2541 โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมส่วนฟ้องโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 นั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1ในคดีดังกล่าวจะฟ้องจำเลยโดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ถูกจำเลยเลิกจ้างและเรียกร้องในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ก็ตาม แต่เป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 109/2538 ฉะนั้น มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับมูลคดีที่โจทก์ฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 16148/2542และคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 ของศาลแรงงานกลางจึงเป็นมูลคดีที่มิได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน และประเด็นข้อพิพาทก็แตกต่างกันอีกด้วย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้ชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่สำหรับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเกี่ยวกับเงินทดรองโดยโจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลยเป็นเงิน 62,260 บาท ตามที่ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 9201/2539 ก็ตาม แต่การที่โจทก์เพียงแต่ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลยดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีเจตนาจะส่งคืนเงินทดรองดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และกรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และการค้าชำระเงินทดรองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ค้างชำระเงินทดรองดังกล่าวไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลส่วนเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลยเป็นเงิน 62,260 บาทอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเรื่องเงินทดรอง จำเลยทวงถามแล้วโจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินทดรองดังกล่าว และแม้ว่าศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินทดรองดังกล่าวแก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 และคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ก็ยังคงเพิกเฉยไม่คืนเงินทดรองดังกล่าวให้แก่จำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็ได้จ่ายเงินค่าเสียหายในระหว่างที่มีคำสั่งพักงานโจทก์ให้แก่โจทก์ไปแล้ว และแม้จำเลยจะมีคำสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานและมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกันก็เป็นเพียงวิธีการที่จำเลยจำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5953-5954/2539 ของศาลแรงงานกลาง ที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยดังกล่าวก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องเงินทดรอง อันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ฉะนั้นจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”