คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากที่ดินส่วนของโจทก์ขาดหายไปประมาณ 30ตารางวา โจทก์ต้องการที่ดินส่วนของโจทก์ 100 ตารางวา แต่จำเลยไม่ยินยอม ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินโดยให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นจำนวนเนื้อที่แน่นอนคือ 100 ตารางวา เมื่อโจทก์จำเลยขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์โดยแยกที่ดินส่วนของตนเองออกมา ปรากฏว่าที่ดินทั้งแปลงขาดหายไป 30 ตารางวา จำเลยจะเอาเนื้อที่ที่อ้างว่าขาดหายไปมาหักจากเนื้อที่ดินทั้งแปลงแล้วแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในโฉนดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวน 100 ตารางวา ตามที่ซื้อขายจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 34049เนื้อที่ 2 งาน 2 ตารางวา โดยโจทก์ถือกรรมสิทธิ์จำนวน 100 ส่วน ในจำนวน 202 ส่วนต่อมาโจทก์ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นสัดส่วน แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการร่วมกับโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 34049 ตำบลศาลายาอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แก่โจทก์เพื่อไปทำการยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินร่วมกับโจทก์ (ที่ถูกขอทำการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม) โดยกำหนดเนื้อที่เป็นของโจทก์จำนวน 1 งาน หากจำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินและไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์อยู่ด้านทิศตะวันตกส่วนของจำเลยอยู่ด้านทิศตะวันออก โจทก์กับจำเลยเคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมสาขานครชัยศรี เพื่อให้ทำการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดิน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เพราะหลังจากเจ้าพนักงานไปทำการรังวัดที่ดินแล้ว ที่ดินด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ขาดหายไปบางส่วน เพราะถูกแนวถนนสาธารณะรุกล้ำเข้าไปคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา โจทก์ต้องการให้ที่ดินของโจทก์มีจำนวน 100 ตารางวา แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 100 ส่วน ในจำนวน 202 ส่วน เมื่อที่ดินเนื้อที่ไม่ถึง 202 ตารางวา สิทธิของโจทก์จะต้องลดลงตามส่วน จำเลยพร้อมที่จะแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ตามส่วนดังกล่าว แต่เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่ยอมรับกรณียังไม่เกิดข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 34049 ตำบลศาลายาอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์และไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยก (ที่ถูก ไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม) ที่ดินโฉนดเลขที่ 34049 ร่วมกับโจทก์ โดยกำหนดเนื้อที่เป็นของโจทก์จำนวน 1 งาน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 และให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 34049 ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมเนื้อที่ 2 งาน 2 ตารางวา อันเป็นที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 100 ส่วนในจำนวน 202 ส่วน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์และจำเลยเคยร่วมกันดำเนินการขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้วตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.2 และช่างรังวัดได้ไปทำการรังวัดให้ แต่เนื่องจากที่ดินขาดหายไปบางส่วน จึงไม่อาจตกลงกันได้ จำเลยจึงขอยกเลิกเรื่อง โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยไปทำการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมอีกครั้ง ซึ่งจำเลยได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ว่า จำเลยพร้อมที่จะดำเนินการรังวัดและแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้ ตามเอกสารหมาย ล.3 แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำคดีมาสู่ศาลเสียก่อน ดังนั้น การที่จำเลยไม่ยอมไปดำเนินการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท จึงหามีมูลความจริงแต่ประการใดไม่ โจทก์ไม่ถูกโต้แย้งสิทธิแต่ประการใดจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยเคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขานครชัยศรี เพื่อทำการังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากที่ดินส่วนของโจทก์ขาดหายไปประมาณ 30 ตารางวา โจทก์ต้องการที่ดินส่วนของโจทก์ 100 ตารางวา แต่จำเลยไม่ยินยอมย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจำนวนเท่าใด โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยเนื้อที่100 ตารางวา โจทก์จึงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 100 ตารางวา หรือจำนวน100 ส่วนจากจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 202 ส่วน หรือ 202 ตารางวา จำเลยเบิกความเป็นพยานยอมรับว่าเป็นความจริงนอกจากนี้ยังได้ความจากนางพรรณี โรจน์สุนันท์ ซึ่งเป็นช่างรังวัดผู้ทำการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ในการรังวัดที่ดินพิพาทปรากฏว่าเนื้อที่ตามโฉนดที่ดินที่ทำการรังวัดขาดหายไปจำนวน 30ตารางวา เห็นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 โดยให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นจำนวนเนื้อที่แน่นอนอีก 100ตารางวา เมื่อโจทก์และจำเลยขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยแยกที่ดินส่วนของตนออกมาแต่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ทั้งแปลงขาดหายไป 30ตารางวา จำเลยจะเอาเนื้อที่ที่อ้างว่าขาดหายไปมาหักจากเนื้อที่ที่ดินพิพาททั้งแปลง แล้วแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในโฉนดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทจำนวน 100 ส่วนหรือ 100 ตารางวา ตามที่ซื้อขายจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share