คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยเด็กหญิงไม่ยินยอมจำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 4 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวแล้วแต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ทราบอายุของผู้เสียหายซึ่งเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดถือว่าเป็นความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาอีกว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายกับขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดโทษ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากเด็กหญิงน้ำฝน หมายเจริญ อายุ 14 ปีเศษ ไปเสียจากนางมวย หมายเจริญ มารดาเพื่อการอนาจาร และจำเลยกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงน้ำฝนผู้เสียหายอายุ 14ปีเศษ โดยใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยที่ท้องผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายถอดกางเกงถลกเสื้อและเสื้อชั้นในของผู้เสียหาย แล้วเล้าโลมตามร่างกายของผู้เสียหาย โดยจูบที่ปาก คอและหน้าอก จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมจนสำเร็จความใคร่ เหตุเกิดที่ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 317, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงไม่ยินยอม และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงไม่ยินยอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารจำคุก 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงไม่ยินยอมและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงไม่ยินยอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หมายความว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงพิพากษายืนในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงไม่ยินยอม และฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า จำเลยไม่ทราบอายุของผู้เสียหายซึ่งเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิด ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เป็นฎีกาที่จำเลยโต้แย้งคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ข้อที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยมิได้กระทำผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายและขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share