คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากสูงอายุ โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนนั้น ยังไม่ถือว่าโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างวันที่โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างต้องถือเอาวันที่จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติงานใหม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังยุติแล้วว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากสูงอายุ อันเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ได้ค่าจ้างเดือนละ 13,800 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529จำเลยได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน2529 โดยไม่สอบสวนและได้ทวงเงินเดือนที่จ่ายให้โจทก์รับไปแล้วกลับคืน 6 วัน วันละ 460 บาท อีกทั้งยังยึดสลากออมสินของโจทก์ไว้การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจจะลงโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกเพื่อมิให้โจทก์ได้รับเงินใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัย จำเลยจึงมีคำสั่งใหม่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2532ให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิมซึ่งโจทก์ได้เซ็นทราบคำสั่งแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน ตามข้อบังคับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ข้อ 20 ซึ่งระบุไว้ว่าจะต้องจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนเต็มจำนวนเป็นเงิน472,420 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมจ่าย จึงขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 472,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 8 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสภาพเป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 เพราะโจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตั้งแต่เดือนตุลาคม2529 เป็นต้นไป จำเลยไม่เคยจ้างโจทก์จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2532แต่ได้จ้างโจทก์ถึงวันที่ 30 กันยายน 2529 เท่านั้น อันเป็นปีที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปี และการเลิกจ้างก็เป็นไปตามระเบียบการ ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 จำเลยได้ทราบจากบุคคลภายนอกว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529 โจทก์ได้ถูกศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาท จำเลยเห็นว่าโจทก์ได้ทำผิดวินัยตามระเบียบการ ฉบับที่ 123 ข้อ 20 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน และถือว่าโจทก์ยังมิได้ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุและระงับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับไว้ก่อน จนกว่าคดีอาญาดังกล่าวจะถึงที่สุด จนกระทั่งในปี 2532 จำเลยได้ทราบว่าคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยศาลเห็นว่าโจทก์หมิ่นประมาทจริง แต่ให้รอการลงอาญา จำเลยจึงได้ดำเนินการตามระเบียบการฉบับที่ 123 ข้อ 20 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเป็นว่าให้โจทก์กลับเข้าทำงานโดยกำหนดในคำสั่งใหม่ให้เข้าทำงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันเกษียณอายุ มิใช่เข้าทำงานจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2532 ส่วนเงินเดือนที่โจทก์ได้รับไปในช่วงวันที่ 25 กันยายน 2529 ถึงวันที่30 กันยายน 2529 นั้น แม้จำเลยจะได้เคยทวงถามไป แต่โจทก์ก็ยังมิได้คืนจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้นเกี่ยวกับเงินค่าจ้างในระหว่างที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่อย่างใดทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่8 ตุลาคม 2468 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปี 2529 จำเลยไม่ได้ต่อเวลาทำงานให้โจทก์ โจทก์ได้พ้นจากตำแหน่งพนักงานเนื่องจากสูงอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 จึงฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2532 ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า วันที่จะถือว่าโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างต้องถือเอาวันที่จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิมคือวันที่ 7 สิงหาคม 2532 เพราะคำสั่งที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนนั้นยังไม่ถือว่าโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้าง โจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2532อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากสูงอายุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์.

Share