คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าหลวงพิเศษแบ่งที่ดินให้ผู้ใดผู้นั้นย่อมมีกรรมสิทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งที่ดินในท้องที่อำเภอบางบ่อบางพลี ฯลฯ 2473
คำขอเรียกค่าเสียหายในปีต่อๆ ไป หลังจากวันฟ้องไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลศาลก็พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษารวมกัน

สำนวนแรก คือคดีแพ่งเลขดำที่ 248/2491 (แดง 120/2492)ของศาลชั้นต้น นางวงษ์เป็นโจทก์อ้างว่า ที่ดินตำบลคลองด่านอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตามโฉนดเลขที่ 2559 เลขที่ 2560 รวมเนื้อที่ ประมาณ 18 ไร่ 3 งาน เป็นของโจทก์ เมื่อ พ.ศ. 2491 นายจ้อยจำเลยบังอาจบุกรุกเข้าไปทำนาโดยไม่ยอมเชื่อฟังการห้ามปรามของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้ จึงฟ้องขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหายปีละ 1,312.50 บาท

นายจ้อยจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าเป็นที่ของจำเลยครอบครองทำประโยชน์ตลอดมานานตั้ง 19 ปีแล้ว โจทก์หรือผู้ใดไม่เคยทำเลยโฉนดที่ดินรายนี้ออกทับที่ของจำเลย โดยไม่มีการรังวัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

แล้วนายจ้อยจำเลยได้กลับเป็นโจทก์ฟ้องนางวงษ์โจทก์ในคดีแรกเป็นจำเลยร่วมกับนางเผียน พึ่งภู่ นายหร่ำ พึ่งภู่ นายแดง แจ้งสว่างอ้างว่าที่ดินรายนี้ นายจ้อยได้เข้าจับจองก่นสร้างทำประโยชน์ครอบครองมาจน พ.ศ. 2475 ข้าหลวงพิเศษได้เอาที่ดินรายนี้ของนายจ้อยไปจัดแบ่งให้ผู้อื่นซึ่งนายจ้อยได้ร้องคัดค้านไว้แล้วแต่ข้าหลวงพิเศษก็หาได้สั่งอย่างใดไม่ นายจ้อยก็คงครอบครองโดยสงบและเปิดเผยต่อมาเป็นเวลา 19 ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นนายจ้อยเพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินรายนี้ เมื่อถูกนางวงษ์ฟ้อง(คือคดีแรก) ว่าออกให้นางเผียนและนายหร่ำ แล้วนางเผียน นายหร่ำ โอนขายให้นายแดง นายแดงโอนขายให้นางวงษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2491 ซึ่งเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและนายแดงกับนางวงษ์ได้รู้อยู่ดีแล้วว่าที่ดินรายนี้นายจ้อยใช้สิทธิครอบครองอยู่ ทำให้นายจ้อยผู้มีสิทธิในฐานะที่จะเป็นผู้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนแล้ว เสียหาย จึงฟ้อง (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11/2492 เลขแดงที่ 121/2492 ของศาลชั้นต้น) ขอให้สั่งเพิกถอนการโอนและถอนชื่อจำเลยที่ 1-2 ออกจากโฉนด ใส่ชื่อนายจ้อยโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป

แต่นายจ้อยโจทก์นำส่งหมายให้นายแดง นางเผียน นายหร่ำไม่ได้ ขอถอนฟ้องคนทั้ง 3 เสีย คงเหลือเฉพาะนางวงษ์โจทก์ในคดีแรกคนเดียว

นางวงษ์ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินรายนี้ได้เป็นไปตามกฎหมายโดยถูกต้องและโดยสุจริต ไม่เคยทราบว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม นายจ้อยได้ปล่อยให้นางเผียนนายหร่ำ ได้รับโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาตั้งหลายปี จนมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่น และนายแดงเป็นผู้รับโอนมาซึ่งนางวงษ์เชื่อโดยสุจริตว่า นายแดงเป็นเจ้าของมีอำนาจขายให้ได้ จึงรับโอนไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นางวงษ์ย่อมได้กรรมสิทธิ์

ภายหลังนายจ้อยโจทก์ได้ขอนำส่งหมายเรียกนายแดงเข้ามาเป็นจำเลยอีกและศาลอนุญาต นายแดงให้การว่า ที่ดินรายนี้ข้าหลวงพิเศษได้จัดแบ่งแล้ว โดยไม่มีการคัดค้าน หรือคัดค้านโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ความจริงโจทก์ไม่ได้ครอบครอง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม นายแดงได้รับโอนไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และโฉนดที่ดินรายนี้ได้มีการออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่นายจ้อยจำเลยและบริวารออกจากที่ดินรายนี้ และให้ใช้ค่าเสียหาย 1,312.50 บาทกับอีกปีละ 1,312.50 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ ตามที่โจทก์ฟ้องในสำนวนแรก ส่วนสำนวนหลัง ที่นายจ้อยเป็นโจทก์ ให้ยกฟ้อง

นายจ้อยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน

นายจ้อยฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายโจทก์ และตรวจปรึกษาคดี 2 สำนวนนี้แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปีพ.ศ. 2473 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งที่ดินในท้องที่อำเภอ บางบ่อบางพลี จังหวัดสมุทรปราการและบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่ราษฎร โดยตั้งข้าหลวงพิเศษเป็นผู้จัดการแบ่ง เฉพาะที่รายพิพาทนี้ข้าหลวงพิเศษได้แบ่งให้นางเผียน นายหร่ำ คนละแปลง รวมเนื้อที่18 ไร่เศษ นางเผียน นายหร่ำ นำเจ้าพนักงานรังวัด และได้รับโฉนดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2488 คือโฉนดที่ 2559 และที่ 2560 วันเดียวกันนั้นเองคนทั้งสองได้โอนขายให้แก่นายแดงจำเลย ต่อมานายแดงจำเลยจำนองที่ดิน 2 โฉนดนี้ไว้กับนายจำนงค์ และจำนองนางบุญนาคไถ่จากนางบุญนาคและขายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2491 โจทก์ซื้อแล้วจะให้ผู้อื่นเช่าทำ จำเลยคัดค้านว่าจำเลยครอบครองมาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า เดิมนายแพง นางเพิ่ม บิดามารดาจำเลยกับนายถมยา นายพลับ นายอ้อน และนายสอน ได้ครอบครองทำกินในป่าแสมและชักครามร่วมกันมา ครั้งข้าหลวงพิเศษมาแบ่งแยกที่ดินให้แก่ราษฎร นางเพิ่มได้ร้องคัดค้าน และได้รับที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับที่รายพิพาทนี้ พวกดังกล่าวคงทำกินต่อมาคราวนางเผียน นายหร่ำนำเจ้าพนักงานมารังวัดเพื่อรับโฉนดที่รายพิพาท นางเพิ่มก็ได้คัดค้านราว 8, 9 ปีมานี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้นไม่อยากเป็นความ ได้ยกที่ดินที่ต่างคนต่างครอบครองมาให้แก่จำเลยรวมเนื้อที่ 32 ไร่ โจทก์จะให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่รายพิพาทจำเลยไม่ยอมทำ เพราะได้ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 18, 19 ปีแล้ว

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ซื้อที่รายพิพาทจากนายแดงจำเลยโดยเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนการโอนโดยสุจริตแล้วจะให้นายกิ่งนายก้านเช่า จำเลยไม่ยอมให้เช่า จึงต้องฟ้อง

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษได้จัดการแบ่งที่รายพิพาทให้แก่นางเผียน นายหร่ำ ตามพระราชกฤษฎีกา แม้นางเพิ่มมารดาจำเลยจะได้ไปร้องคัดค้าน แต่นางเพิ่มก็มิได้จัดการตามพระราชกฤษฎีกาบังคับไว้ นางเพิ่มเบิกความยืนยันว่านางเผียนนายหร่ำนำเจ้าพนักงานรังวัดทับที่ดินของนางเพิ่มคนละ 5 ไร่ นางเพิ่มได้คัดค้านก็ไม่ปรากฏว่านางเพิ่มได้จัดการประการใด ข้อสำคัญที่รายพิพาทมี 18 ไร่เศษ แต่จำเลยนำสืบเป็น 32 ไร่ นายผวนผู้ใหญ่บ้านพยานจำเลยเบิกความว่าจำเลยจะปลูกบ้านอยู่ในเขตโฉนดที่รายพิพาทด้วยหรือไม่นายผวนไม่ทราบ ดังนี้ ตามรูปคดีจึงฟังไม่ถนัดว่าจำเลยได้ครอบครองที่รายพิพาทดังจำเลยนำสืบมา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางเผียน นายหร่ำได้รับโฉนดรายพิพาทมาโดยพระราชกฤษฎีกาและชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น แม้นางเผียน นายหร่ำจะโอนขายที่รายพิพาทให้แก่นายแดงจำเลยในวันรับโฉนด นายแดงจำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย นับตั้งแต่วันนายแดงจำเลยได้กรรมสิทธิ์จนถึงวันโจทก์ซื้อที่รายพิพาทก็เพียง 3 ปีเศษ ยังไม่ขาดกรรมสิทธิ์ เรื่องนี้โจทก์นำสืบได้ความชัด และฝ่ายจำเลยก็ไม่มีพยานหักล้าง ฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่รายพิพาทไว้โดยเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิของตนโดยสุจริต ฉะนั้น โจทก์จึงได้กรรมสิทะิ์ตามกฎหมาย

ข้อที่จำเลยคัดค้านมาในฎีกาว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาล 32 บาท 50 สตางค์ ในทุนทรัพย์ คือค่าเสียหาย 1,312 บาท 50 สตางค์เพียงปีเดียว ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ไม่มีอำนาจให้ค่าเสียหายในปีต่อ ๆ มานั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(4) ให้อำนาจศาลที่จะพิพากษาเช่นนั้นได้ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

คงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นนี้แทนโจทก์ 250 บาท

Share