คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามฟ้องโจทก์ คือ ป.อ. มาตรา 139 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย…” ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 139 ดังกล่าว จะต้องกระทำการต่อเจ้าพนักงาน คือข่มขืนใจต่อเจ้าพนักงาน แต่ตามคำบรรยายในฟ้องโจทก์เองและตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยเพียงขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีซึ่งเป็นการพูดต่อผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ด้วยกัน จำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้จะฟังว่าการพูดปราศรัยดังกล่าวมีการทำข่าวทางสถานีโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนสาธารณะอื่นด้วยก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการทำข่าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของนักข่าวสื่อมวลชนมาทำข่าวกันเองเท่านั้น ขณะเกิดเหตุที่จำเลยพูดปราศรัยเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 แต่หลังจากนั้นอีก 3 วัน จึงมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าร่วมในการเข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวด้วย การชุมนุมเพื่อปิดกั้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักงานอาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 139 ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่การพูดของจำเลยต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ไม่ได้กระทำต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม เป็นการพูดชักชวนปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ไปร่วมกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เท่านั้น ที่สำคัญในคำพูดปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่จำเลยข่มขืนใจเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการอันใดที่จำเลยต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีกำหนดการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และสื่อมวลชนสาธารณะอื่นทั่วประเทศ มีถ้อยคำตอนหนึ่งว่า “…มันไม่ดีเลยตอนนี้ที่นี้พี่น้องครับ ผมเป็นห่วงอยู่นิดเดียวว่า เมื่อลั่นกลองรบแล้วเนี่ยเราจะรบกันเมื่อไหร่ แต่ว่าท่านนายกเนี่ยซึ่งเป็นผู้นำเราเนี่ยจะต้องไปหา ป.ป.ช. วันที่ 27 ถามว่าท่านนายกไปรับข่าว ไปรับอะไรต่ออะไรของ นปช. เราจะมีปัญหาพี่น้อง แต่ว่า นปช. ป.ป.ช. เราเนี่ยจะต้องไปป้องกันนายก ผมคิดว่าวันที่ 23, 24, 25, 26 มีเวลาแค่ 3 วัน ถ้าทางฝ่ายเรานี้นะครับ รวมพลสัก 20,000 ไปปิด ป.ป.ช. ปิดแล้วนะครับ อย่าให้มันขี้ อย่าให้มันเยี่ยว อย่าให้มันกิน ให้มันตายอยู่ในนั้น แล้วส่วนหนึ่งก็ไปล้อมอยู่ที่บ้านลูกเมียมัน ให้มันตาย ไอ้พวกนี้ใจร้ายครับ คนทำงานตั้งเยอะแยะก็ยังจะกลั่นแกล้งกันนะครับ คนเราเนี่ย อย่างไอ้ศาลแพ่งก็เหมือนกัน ไม่ยกเลิกอย่างหนึ่งแต่ก็กีดกันตั้งเยอะแยะ เดี๋ยวนี้เราต้องฟันต่อฟัน ตาต่อตา เราต้องสู้ครับพี่น้องครับ มันเหี้ยอย่างไร เราเหี้ยมากกว่าครับพี่น้องครับ เราต้องไปล้อมบ้าน อย่าให้มันได้ทำงาน เราก็แบบว่าชัทดาวน์ไอ้พวกนี้เหมือนกัน แต่มีเวลาแค่ 3 วัน ถามว่าเสื้อแดงเราจะพร้อมไหม พร้อมไหมครับ…” และต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2557 กลุ่ม นปช. สวมใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ไปชุมนุมปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้โซ่คล้องปิดประตูรั้ว ประตูทางเข้าออก คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าออกได้ และวันที่ 3 มีนาคม 2557 กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) เดินทางไปยังบ้านของพลตำรวจเอก สถาพร คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อยื่นหนังสือให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามฟ้องโจทก์ คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย…” ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 139 ดังกล่าว จะต้องกระทำการต่อเจ้าพนักงาน คือข่มขืนใจต่อเจ้าพนักงาน แต่ตามคำบรรยายในฟ้องโจทก์เองและตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยเพียงขึ้นพูดปราศรัยบนเวที ซึ่งเป็นการพูดต่อผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ด้วยกัน จำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้จะฟังว่าการปราศรัยดังกล่าวมีการทำข่าวทางสถานีโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนสาธารณะอื่นด้วยก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการทำข่าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของนักข่าวสื่อมวลชนมาทำข่าวกันเองเท่านั้น ขณะเกิดเหตุที่จำเลยพูดปราศรัยเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่หลังจากนั้นอีก 3 วัน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 จึงมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าจำเลยได้เข้าร่วมในการเข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวด้วย การชุมนุมเพื่อปิดกั้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักงานอาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 139 ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่การพูดของจำเลยต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ไม่ได้กระทำต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุมเป็นการพูดชักชวน ปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ไปร่วมกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เท่านั้น ที่สำคัญในคำพูดปราศรัยของจำเลยไม่ได้มีข้อความตอนใดที่จำเลยข่มขืนใจเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการอันใดที่จำเลยต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ การพูดของจำเลยเป็นเพียงการพูดเพื่อตอบโต้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะจำเลยและผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง จึงต้องตอบโต้ ไม่ใช่พูดเพื่อที่จะให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำหรือไม่กระทำการอันใดเลย และในที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นางสาวยิ่งลักษณ์แล้วตามคำเบิกความยืนยันของนายสิทธิพงษ์ พยานโจทก์ด้วย เมื่อการกระทำของกลุ่ม นปช. ที่พากันไปปิดสำนักงาน ป.ป.ช. ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จังหวัดนนทบุรี ต่างหากที่อาจเป็นการข่มขืนใจเจ้าพนักงานไม่ให้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ใช่การพูดปราศรัยของจำเลยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจำเลยพูดปราศรัยต่อผู้ชุมนุมไม่ได้กระทำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share