แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าที่มีอัตราค่าเช่าไม่เกินกว่าเดือนละ 40 บาทนั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ 2486
พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า 2489 ไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเช่า ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วโดยชอบ เหตุกรณีเช่นนี้ ต้องถือว่าผู้เช่าอยู่ในฐานผู้ละเมิด ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า 2490 เป็นบทแก้ไขเฉพาะพระราชบัญญัติปี 2489 เท่านั้น การเช่าที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พระราชบัญญัติปี 2489 แล้ว ก็อ้างความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติปี 2490 ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกเช่า จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2489
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2489จะได้ออกภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญา และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่อยู่ก่อนแล้วก็ดี แต่พระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายให้มีผลย้อนหลังด้วยจึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2489เป็นกฎหมายตัดสิทธิผู้ให้เช่าซึ่งมีอยู่ก่อนจึงต้องแปลให้แคบเมื่อไม่มีที่ใดบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง การที่จำเลยไม่ออกจากที่เช่า เมื่อหมดอายุสัญญาและโจทก์บอกเลิกแล้ว จึงเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่เช่า เมื่อหมดอายุสัญญาตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2486 นั้น พระราชบัญญัตินี้คุ้มครองเฉพาะการเช่าที่มีอัตราค่าเช่าไม่เกินกว่าเดือนละ 40 บาทเท่านั้น จึงไม่คุ้มครองถึงกรณีการเช่ารายนี้ การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิดตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 545/2488 และการที่มีพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2489 ก็ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้จำเลยเกิดสิทธิขึ้นได้ ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ อนึ่ง จะยกพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ พ.ศ. 2490 มาปรับแก่คดีนี้ก็ไม่ได้เพราะพระราชบัญญัติปี 2490 นี้ แก้ไขเฉพาะพระราชบัญญัติปี 2489 เท่านั้น จึงพิพากษายืนศาลอุทธรณ์