แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติหรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้ว ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างใช้สิทธิฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์แต่ละคนได้รับ แม้ฟ้องรวมกันมาแต่หนี้ของโจทก์แต่ละคนสามารถแยกออกจากกันได้ หนี้ของโจทก์แต่ละคนจึงไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียวคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีผลไปถึงคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเสียเองได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 105,248 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 44,115 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 209,760 บาท แก่โจทก์ที่ 3พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 105,248 บาท 44,115 บาท และ209,760 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 105,248 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน44,115 บาทแก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 208,430 บาทแก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 105,248 บาท 44,115 บาท และ 208,430 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้าง กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 105,248 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 44,115 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 208,430บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3ไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้น คดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ย่อมเป็นยุติหรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางการที่จ้างแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทั้งที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3มิได้อุทธรณ์ด้วยโดยอ้างว่าความรับผิดดังกล่าวเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นอันยุติหรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้ว ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างใช้สิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์แต่ละคนได้รับ แม้จะฟ้องรวมกันมาแต่หนี้ของโจทก์แต่ละคนสามารถแยกออกจากกันได้ หนี้ของโจทก์แต่ละคนจึงไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีผลไปถึงคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทั้งที่คดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเสียเองได้ โดยให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 คดีคงเหลือเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 แต่ปรากฏว่าคดีของโจทก์ที่ 1 มีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2และที่ 3 และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จะต้องคืนให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8