คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6398/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์แล้ว อันเป็นการจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสองให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินของโจทก์ทั้งที่เจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้ปฏิเสธคำร้องขอของโจทก์ และยังไม่มีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนในราคาตามฟ้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๖๐,๖๒๗,๒๓๘ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินจากต้นเงิน ๒๒๙,๕๒๐,๕๖๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๓๐๘ และ ๓๔๓๐๙ ที่เหลือจากการเวนคืนนั้น เจ้าหน้าที่เวนคืนได้อนุมัติ ให้จัดซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์แล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมาชำระ ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๑,๘๓๗,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ ๑๒ ต่อปี ตามขอ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชา ธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๓๐๘, ๓๔๓๐๙ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวง แผ่นดินหมายเลข ๓๕๑ สายต่อเขตกรุงเทพมหานครควบคุม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๐๒ (เขตบึงกุ่ม) พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกใช้บังคับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๓๐๘ และ ๓๔๓๐๙ ที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ไปยังจำเลยที่ ๒ ขอให้จัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนครั้งนี้ และจำเลยที่ ๑ ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตาม คำร้องขอของโจทก์แล้ว อันเป็นการจัดซื้อที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสองให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ เจ้าหน้าที่เวนคืนมีอำนาจตกลงซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนกับโจทก์ หากไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องราคาที่จัดซื้อ โจทก์ต้องสงวนสิทธิในการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๖ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้น แล้วอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง เพื่อขอให้เพิ่มราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนก่อน หากโจทก์ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๕ วรรคสอง โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิ่มเงินค่าจัดซื้อที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินของโจทก์ ทั้งที่เจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้ปฏิเสธคำร้องขอของโจทก์ และยังไม่มีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๓๐๘ และ ๓๔๓๐๙ ที่เหลือจากการเวนคืนในราคาตามฟ้องของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๙,๒๓๔,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด ของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๑๒ ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ของต้นเงิน ๑๐,๑๘๔,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ และของต้นเงิน ๙,๐๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น และศาลฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๕๐,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขอนอกจากนี้ให้ยก.

Share