คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มูลคดีตามฟ้องเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย ไม่อาจนำพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเลค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้บังคับเพื่อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่ารับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติอยู่จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5) แห่งพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เท่ากับเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 625 แม้จะมีตราประทับชื่อของบริษัทผู้ส่งและมีการลงลายมือชื่อไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ลงลายมือชื่อเป็นใคร มีอำนาจกระทำแทนบริษัทผู้ส่งอย่างไรหรือไม่อีกทั้งไม่มีข้อความระบุว่าลงลายมือชื่อเพื่อจุดหมายใด อาจเป็นการลงลายมือชื่อรับคู่ฉบับหรือสำเนาเอกสารก็ได้ เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้ยันผู้ส่ง และบริษัทผู้รับตราส่งซึ่งได้รับสิทธิมาจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในกรณีสินค้าสูญหายระหว่างการขนส่งจำนวน 389,011 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งที่จะรับไว้พิจารณา วิธีการขนส่งทางทะเลคดีนี้มิได้เป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้าง สินค้ามิได้สูญหายไประหว่างเวลาตั้งแต่รับตู้คอนเทนเนอร์ถึงเวลาที่เปิดตู้สำรวจ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด ข้อสัญญาและจารีตประเพณีเจ้าของผู้ส่งสินค้าได้ยอมรับรู้โดยชัดแจ้งแล้ว และตามหลักฐานใบตราส่งเจ้าของสินค้าได้ยอมรับรู้ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้โดยชัดแจ้งตามข้อกำหนดข้อ 8, 9(1) ซึ่งออกให้ตามรายการที่เจ้าของสินค้าผู้ส่งแจ้งต่อสายเดินเรือเมอสก์ เมืองนิวยอร์คจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การขนส่งรายนี้คู่สัญญาเป็นคนต่างสัญชาติกัน โดยผู้ส่งมีสัญชาติแคนาดา และจำเลยมีสัญชาติเดนมาร์ก ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 ระบุให้นำกฎหมายแห่งถิ่นที่ทำสัญญามาใช้บังคับแก่สาระสำคัญและผลของสัญญา จึงต้องนำกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้บังคับ ซึ่งระบุถึงความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีของสูญหายหรือเสียหายว่า ผู้ขนส่งมีความรับผิดไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 หีบห่อของสินค้า นอกจากนั้นความในข้อ 5 ของใบตราส่งซึ่งเป็นสัญญาในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ได้กำหนดว่า ให้นำกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ หากจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่เกิน500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10,000 บาท ฉะนั้นโดยข้อกฎหมายและจารีตประเพณีท้องถิ่นของประเทศสหรัฐอเมริกาคู่สัญญาในสัญญาขนส่งจึงต้องผูกพันตามข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยการรับช่วงสิทธิตามสัญญาขนส่งจากบริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด โจทก์จึงต้องรับข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวด้วย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยเกินกว่า 500 เหรียญสหรัฐ ขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,305 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000 เหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษานี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นฎีกาว่า บริษัทดัมป์สกิปเซลสกาเบ็ทอาฟ 1912 อักตีเซลสกาป จำกัด และบริษัทอักตีเซลสกาเบ็ท ดัมป์สกิปเซลสกาเบ็ท สเว็นด์บอร์ก จำกัด เป็นนิติบุคคลโดยจดทะเบียนในประเทศเดนมาร์ก บริษัททั้งสองได้ร่วมลงทุนเข้าเป็นหุ้นส่วนกันเพื่อประกอบพาณิชยกิจในการขนส่งทางทะเล มีสำนักงานสาขาอันเป็นภูมิลำเนาอยู่ที่เลขที่ 231/2 ถนนสาธรใต้แขวงยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และได้จดทะเบียนพาณิชย์ในประเทศไทยใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า “สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพฯ” คือจำเลยคดีนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2523บริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าตะไบเหล็กจำนวน 206 กล่องจากบริษัทคูเปอร์ทูลกรุ๊ป จำกัดเมืองเวสตัน รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดาบริษัทคูเปอร์ทูลกรุ๊ป จำกัด ได้ว่าจ้างสายเดินเรือเมอสก์ แห่งประเทศแคนาดาของจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยผ่านบริษัทเมอสก์ไลน์เอเจนซี่ จำกัด เมืองโทรอนโต รัฐออนตาริโอประเทศแคนาดา บริษัทซาวิตซ์บราเดอรส์ จำกัด ได้รับมอบหมายให้นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าตะไบเหล็กแล้วไปมอบให้แก่บริษัทมอลเลอร์สติมชิป จำกัด ที่ท่าเรือนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทเมอสก์ไลน์เอเจนซี่ จำกัด และบริษัทมอลเลอร์สติมชิป จำกัด เป็นหุ้นส่วนของจำเลยซึ่งทำหน้าที่แทนจำเลยด้วย และเมื่อได้บรรทุกสินค้าดังกล่าวลงเรืออาร์เธอร์เมอสก์ที่ท่าเรือนิวยอร์คแล้ว เรืออาร์เธอร์เมอสก์ได้นำสินค้ามาขนถ่ายลงเรือเมอสก์พินโตที่ประเทศสิงคโปร์และได้ขนส่งมายังท่าเรือกรุงเทพฯ ทั้งนี้บริษัทเมอสก์ไลน์เอเจนซี่ จำกัด ได้ออกใบตราส่งไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.9 ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.9ระบุถึงสินค้าตะไบเหล็กว่ามีจำนวน 206 กล่อง ต่อมาบริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับตราส่งได้รับใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้ ส่วนใบตราส่งตามเอกสารหมายล.9 อยู่ที่จำเลยวันที่ 16 ธันวาคม 2523 เมื่อสินค้าตะไบเหล็กมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว ได้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบสินค้าปรากฏว่าสินค้าขาดจำนวนไปจากที่ระบุไว้ในใบตราส่ง 8 กล่องคิดเป็นเงิน 389,011 บาทตามเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ไปแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่ามูลคดีตามฟ้องรายนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายแห่งประเทศอื่นใดมาบังคับไม่ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกา มาใช้บังคับเพื่อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังฎีกาของจำเลย ในกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609วรรคสอง บัญญัติว่ารับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 บัญญัติว่า “ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้นถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้รับขนส่งประการใดท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น”นายโรแนล เจ.คริสตอล พยานจำเลยเบิกความว่า ใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ด้านหลังไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้า ดังนั้นการที่จำเลยได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.9 กำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5) แห่งพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625นั่นเอง เมื่อข้อความที่กล่าวนี้ระบุไว้ด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมายล.9 ซึ่งมีตราประทับว่า THE COOPER TOOL GROUP LIMITED PERและลายมือชื่อโดยไม่ปรากฏว่าผู้ลงลายมือชื่อเป็นใคร มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทคูเปอร์ทูลกรุ๊ป จำกัด อย่างไรหรือไม่อีกทั้งไม่มีข้อความระบุว่าลงลายมือชื่อเพื่อจุดมุ่งหมายใด อาจเป็นการลงลายมือชื่อรับคู่ฉบับหรือสำเนาของเอกสารหมาย ล.9 ก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่าฝ่ายโจทก์ก็มีเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความตรงกับเอกสารหมาย ล.9 แต่หาได้มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าไว้ด้านหลังด้วยไม่ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันบริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิมาจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง โจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้เพียง 500 เหรียญสหรัฐไม่ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 389,011บาท ให้แก่บริษัทแองโกล-ไทย เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เพื่อความสูญหายของสินค้าตะไบเหล็กจำนวน 8 กล่องไปแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิดังกล่าวในอันที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้ขนส่งได้เต็มจำนวนจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 389,011 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน389,011 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์

Share