คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1988/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงานวันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างฯลฯ ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ข้อ 28(2) แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2507 ข้อ 12 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ที่ระบุไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อ 27 ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างประจำด้วยเหตุลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันอาจเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้น จะต้องได้ความว่าลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนและโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า ถ้าต่อหน้าหัวหน้างานลูกจ้างก็ทำงานพอลับหลังหัวหน้างานก็หยุดงาน นั่งเล่นบ้าง คุยกันบ้าง ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ย่อมฟังได้เพียงว่า ลูกจ้างไม่ขยันขันแข็งในการทำงานเท่านั้นยังไม่พอถือได้ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ 28(2) นายจ้างจึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างประจำที่ตนได้เลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแดง เจริญผล กับพวกรวม 4 คน ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมแรงงานว่า เป็นลูกจ้างโจทก์ และโจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ไปชี้แจง โจทก์ชี้แจงว่า นายแดง เจริญผล กับพวกรวม 4 คน ประพฤติผิดต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัท ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยให้แก่นายแดง เจริญผล กับพวก โจทก์จึงยื่นคัดค้านคำสั่งต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยให้แก่นายแดง เจริญผล กับพวกตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยเหตุผล เป็นที่เสียหายแก่โจทก์และขัดต่อวัตถุประสงค์ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน

จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย การกระทำของนายแดง เจริญผล กับพวกไม่มีลักษณะเป็นเหตุหนึ่งเหตุใดอันจะทำให้โจทก์เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันดังนี้ :-

1. บริษัทโจทก์มีระเบียบการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.1 ที่ส่งศาล

2. นายแดง เจริญผล กับพวก ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่ออยู่ต่อหน้าหัวหน้างานก็ทำงานพอลับหลังหัวหน้างานก็หยุดงาน นั่งเล่นบ้าง คุยกันบ้างการงานที่หัวหน้างานมอบหมายให้ทำจึงเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด หัวหน้างานเคยตักเตือนนายแดง เจริญผล กับพวก ก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม บริษัทโจทก์จึงมีคำสั่งปลดนายแดง เจริญผล กับพวก ออกจากงาน

3. ฯลฯ

ทนายโจทก์และทนายจำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าบริษัทโจทก์ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้นายแดงกับพวก ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง การจัดให้มีสวัสดิการ เพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ข้อ 28(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2507 ข้อ 12 หรือไม่

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยให้แก่นายแดงกับพวกรวม 4 คน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีข้อความว่า ข้อ 28นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อ 27 ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างประจำด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้.-

(2) ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

ศาลฎีกาเห็นว่า อันการที่จะถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ 28(2) นั้น จะต้องได้ความว่าลูกจ้างจงใจฝ่าฝืน และโดยไม่มีเหตุอันสมควร พฤติการณ์ของนายแดงกับพวกเท่าที่รับข้อเท็จจริงกันมานี้ ฟังได้ว่าเพียงว่าไม่ขยันขันแข็งในการทำงานเท่านั้น ยังไม่พอถือได้ว่าฝ่าฝืนข้อบังคับอันเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 28(2) บริษัทโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายแดงกับพวก

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share