แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การค้ำประกันการทำงานของ ณ. ที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว เมื่อจำเลยได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปยังโจทก์ที่สำนักงานของโจทก์ โดยณ. ในฐานะผู้จัดการของโจทก์ลงลายมือชื่อรับไว้ตั้งแต่วันที่3 กันยายน 2530 ถือว่าการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันมีผลทันที โดยไม่จำต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์อนุมัติก่อนฉะนั้นการที่ ณ.เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน2530 และวันที่ 30 ตุลาคม 2530 เป็นวันหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 206,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่30 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 6,250 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2528 จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ ตรีเมฆ ให้ไว้ต่อโจทก์ในการที่นายณรงค์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการของโจทก์รายละเอียดปรากฏตามหนังสือค้ำประกันพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมาย จ.1ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2530 และวันที่ 30 ตุลาคม 2530นายณรงค์ได้ถอนเงินฝากของโจทก์จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาศรีสะเกษ ในนามของโจทก์แล้วเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของนายณรงค์เองเสียคราวละ 100,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน200,000 บาท แล้วหลบหนีไป โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันของนายณรงค์ คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ที่จำเลยมีต่อโจทก์ ก่อนที่นายณรงค์จะเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปแล้วหรือไม่…เชื่อได้ว่า จำเลยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ที่จำเลยมีต่อโจทก์ไปยังโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2530 โดยนายณรงค์ในฐานะผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้รับต้นฉบับของสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 ไว้แทนโจทก์ ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่าการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ที่จำเลยมีต่อโจทก์มีผลทันทีที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันหรือว่าต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์อนุมัติเสียก่อน ศาลฎีกาพิจารณาสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างชุมนุมสหกรณ์การเกษตรศรีสะเกษ จำกัดเอกสารหมาย จ.11 กับหนังสือค้ำประกันพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมาย จ.1 ประกอบกันแล้ว เห็นว่า การค้ำประกันการทำงานของนายณรงค์ที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่โจทก์ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันอาจเลิกการค้ำประกันนั้นเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้โดยการบอกกล่าวความประสงค์ที่จะเลิกการเป็นผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้และในกรณีเช่นนี้ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในกิจการที่นายณรงค์กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงโจทก์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 ดังนั้นเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันที่จำเลยมีต่อโจทก์ไปยังโจทก์ ณ สำนักงานของโจทก์โดยนายณรงค์ในฐานะผู้จัดการของโจทก์ลงลายมือชื่อรับไว้ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2530ซึ่งเป็นเวลาที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไปถึงโจทก์แล้ว โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 ถือว่าการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ที่จำเลยมีต่อโจทก์มีผลทันทีนับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2530 โดยไม่จำต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์อนุมัติก่อน ฉะนั้นการที่นายณรงค์เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2530 และวันที่30 ตุลาคม 2530 รวมเป็นเงิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันนายณรงค์ต่อโจทก์แล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันนายณรงค์ที่จำเลยมีต่อโจทก์ทั้งการบอกเลิกสัญญาค้ำประกันนั้นมีผลก่อนวันที่นายณรงค์เบียดบังเอาเงินจำนวน 200,000 บาท ของโจทก์ไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นอื่นอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์