คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้โจทก์ไว้เกินไปจากความจริงโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์15,000 บาท และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันโจทก์ไว้ 15,000 บาท โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ใช้เงินตามจำนวนที่กู้ยืมและค้ำประกันจริงได้ ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 15,000 บาทด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 70,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ หากบังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขอให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียง15,000 บาท แต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินโดยยังไม่ได้กรอกข้อความและให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญาด้วยข้อความอันไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,000บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไม่ปลอม …จึงน่าเชื่อตามข้อต่อสู้และการนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 15,000 บาท และโจทก์สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.5ให้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับขณะที่ยังไม่มีข้อความอื่นกรณีจึงเป็นว่าโจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้โจทก์ไว้เกินไปจากความจริง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 15,000บาท และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันให้โจทก์ไว้ 15,000 บาทก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ใช้เงินตามจำนวนที่กู้ยืมและค้ำประกันจริงได้ ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 15,000 บาท ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share