แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ใบรับรองการตรวจสภาพรถเป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบกมอบให้บริษัทซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อตรวจสภาพรถยนต์และออกใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์ได้ผ่านการตรวจสภาพแล้ว พนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ใบรับรองการที่ออกโดยพนักงานของบริษัทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) การที่จำเลยปลอมใบรับรองดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265แต่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 เมื่อจำเลยนำใบรับรองไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งเพื่อใช้ประกอบการเสียภาษีประจำปีจึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าวแล้วใช้เอกสารปลอมที่จำเลยทำขึ้น จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268วรรคสอง แต่กระทงเดียว
อ. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ และไม่มีผลเป็นการอนุญาตให้ฎีกาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยลดลงให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและรอการลงโทษได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 33, 91ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าใบรับรองการตรวจสภาพรถ ไม่ใช่เอกสารราชการ จำเลยปลอมใบรับรองตรวจสภาพรถจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องว่าใบรับรองการตรวจสภาพรถเป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบกมอบให้บริษัทโตโยต้านนทบุรี จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ เพื่อตรวจสภาพรถยนต์และออกใบรับรองการตรวจสภาพรถเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์ได้ผ่านการตรวจสภาพรถแล้ว พนักงานของบริษัทโตโยต้านนทบุรี จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองการตรวจสภาพรถไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้น ใบรับรองการตรวจสภาพรถที่ออกโดยพนักงานของบริษัทโตโยต้านนทบุรี จำกัด จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(8) ที่บัญญัติว่า เอกสารราชการ หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย การที่จำเลยปลอมใบรับรองการตรวจสภาพรถของบริษัทโตโยต้านนทบุรี จำกัด จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 แต่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 เมื่อจำเลยได้นำใบรับรองการตรวจสภาพรถที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 2 เพื่อใช้ประกอบการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารดังกล่าวแล้วใช้เอกสารปลอมที่จำเลยทำขึ้น จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้รอการลงโทษโดยมีนางอุบลรัตน์สีพัฒนากิจ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาขึ้นมานั้น แต่นางอุบลรัตน์มิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาคดีนี้หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ และไม่มีผลเป็นการอนุญาตให้ฎีกาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารถยนต์ดังกล่าวมีสภาพไม่ดีหรือไม่เหมาะสม หากนำไปใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นอย่างไร น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดเพื่อความสะดวกในการยื่นเสียภาษีประจำปีรถยนต์เท่านั้น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นหนักไป ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งโดยรอการลงโทษให้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรลงโทษปรับด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264วรรคหนึ่ง, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์